ไม่พบผลการค้นหา
เวสป้า หรือ อิทธิพล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา นักแต่งเพลงชื่อดัง เสนอแนวคิดใหม่ ช่วยปลดล็อกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมแก่นักร้อง นักแต่งเพลง หลังโดนจับและถูกฟ้องกรณี นำเพลงดังที่สร้างชื่อให้กับตัวเองไปใช้

จากกรณีนักร้องเพลงร็อค 'หนุ่ม กะลา' ถูกจับกุมหลังนำบทเพลง 'ยาม' ของ 'ลาบานูน' ไปขับร้องที่ผับแห่งหนึ่ง และมี ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด่วยการเผยแพร่ภาพและเสียงต่อสาธารณะชน ซึ่งงานดนตรีกรรมหรือโสตทัศนวัสดุโดยไม่ได้รับอนุญาต นี่เป็นข่าวที่เห็นบ่อยครั้ง นักแต่งเพลงโดนสัญญาไม่เป็นธรรม นักร้องโดนจับเรื่องลิขสิทธิ์ เป็นปัญหาใหญ่ของวงการเพลงไทยในปัจจุบัน อิทธิพล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา หรือที่รู้จักกันในนามปากกา เวสป้า นักแต่งเพลงชื่อดัง จึงอยากจะปฏิวัติวงการเพลง ด้วยการจัดตั้งหน่วยงาน เปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ในการทำผลงานเพลง มาร่วมกันทำงานภายใต้สัญญาที่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย

2018_1020_06115800.jpg

เวสป้า ได้เปิดเผยกับทีมข่าว วอยซ์ออนไลน์ ว่าตัวเขามีผลงานเพลงกว่า 4000 เพลง โดยกว่า 400 เพลง ที่สร้างชื่อให้เขาเป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็น ไม่อาจเปลี่ยนใจ ทุกวินาที ด้วยไอรัก ของ เจมส์ เรืองศักดิ์ , เพลงเจ็บแปลบ ของวงไจแอนท์, เพลงสายลมที่หวังดี ของ ทราย เจริญปุระ หรือเพลง สายตายาว ของ วง SUGAR EYES เพลงเหล่านี้ ไม่มีสิทธิ์ใดเป็นของเขาเลย เพราะสัญญาที่ทำในอดีต เป็นการทำสัญญาขายขาดเพลงให้กับบริษัท ค่ายเพลง บางเพลงเป็นสัญญาการโอนสิทธิ์ และสัญญาจ้างให้แต่งเพลง ซึ่งเป็นรูปแบบการทำสัญญาแบบนี้ เป็นวัฒนธรรมของวงการเพลงในอดีต ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มันเป็นความเจ็บปวด สำหรับเจ้าของผลงาน เขาจึงมีความคิดที่อยากจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยการ ก่อตั้ง บริษัท IMA (ไอม่า) ที่รวมคน 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ประพันธ์ Composer  2.ผู้มีประสบการณ์ในวงการเพลง Producer  3.ผู้สนับสนุน (กลุ่มทุน) และเทคโนโลยี เพื่อเป็นองค์กรกลางในการสร้างความยุติธรรมให้กับ ศิลปิน นักแต่งเพลง เป็นเหมือนโครงการ Start-up


"รูปแบบการทำสัญญาแบบนี้ เป็นวัฒนธรรมของวงการเพลงในอดีต ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มันเป็นความเจ็บปวด สำหรับเจ้าของผลงาน"


2018_1020_06441600.jpg

แม้ปัจจุบัน ในยุคออนไลน์ ศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลง จะแก้ปัญหา ด้วยการ ทำผลงานเพลง แล้วนำเสนอ ลง YOUTUBE เพื่อป้องกันปัญหาการถูกเอาเปรียบจากบริษัท หรือ ค่ายเพลงใหญ่ๆ แต่ เวสป้า มองว่า การทำผลงานผ่านทางออนไลน์ สามารถสร้างชื่อให้กับศิลปิน นักแต่งเพลง ได้ แต่ไม่ยั่งยืน ไม่สามารถอยู่วงการได้นาน เพราะไม่ได้รับการพัฒนาที่ครบวงจร ซึ่งเขาอยากช่วยต่อสายป่าน ศิลปินเหล่านี้ให้อยู่ในวงการได้ยาวนานมากขึ้น หากได้รับทุนทำงาน และการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ โดยยังจะเป็นการพัฒนาวงการเพลง ให้คนที่มีไอเดียความคิดสร้างสรรค์ได้พัฒนาที่ดีออกสู่สายตาผู้ฟัง