นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โครงการจัดซื้อจัดจ้างเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) และปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระอาคารผู้โดยสาร (BHS) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้กำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาที่จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ ว่าเป็นผู้จำหน่ายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด รุ่นที่มีความเร็วสายพานไม่น้อยกว่า 0.5 เมตรต่อวินาที และได้รับการรับรองจาก Transportation Security Administration (TSA) ของสหรัฐอเมริกา และการอนุมัติจาก ECAC Standard-3 หรือสูงกว่า ของประเทศในกลุ่มยุโรป ถือเป็นการเปิดช่องให้มีการล็อกสเปกกำหนดตัวเอกชนผู้ได้รับงานล่วงหน้า เนื่องจากมีเอกชนไม่กี่รายที่สามารถเข้าร่วมประกวดภายใต้คุณสมบัตินี้ได้ นั้น
ทอท. ยังชี้แจงว่า เมื่อพิจารณาจากความต้องการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว ที่ปรึกษา จึงสรุปได้ว่าเครื่อง EDS ความเร็วสูง 0.5 เมตรต่อวินาที มีความเหมาะสมกับโครงการนี้ เนื่องจากมีความสามารถได้มาตรฐานความปลอดภัยที่สอดคล้องกับความต้องการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และช่วยเพิ่มระดับการให้บริการ (Level of Services) ของสนามบินที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วได้ในอนาคต
ทั้งนี้ สเปก การปรับปรุงใหม่ ทอท.ได้คำนึงถึงเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ต้องมีความทันสมัยกว่าเดิมเป็นสำคัญ ไม่ใช่ประเด็นแค่เรื่องความเร็วเท่านั้น เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว และเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำเข้ามาต้องรองรับได้
อีกทั้ง ในระยะยาว 13-15 ปีข้างหน้า หรือ ถึงปี 2578 นอกจากนั้น ในเชิงคุณภาพสเปกของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดระบบใหม่นี้ ต้องมีมาตรฐานระดับโลก ควรต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Transportation Security Administration (TSA) และการอนุมัติจาก ECAC Standard-3 หรือสูงกว่าของประเทศในกลุ่มยุโรป เนื่องจากทั้งสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรปต่างยอมรับสนามบินที่มีมาตรฐานในระดับเดียวกันในการบินเข้าประเทศ
นอกจากนี้ จากรายงานผลการออกแบบ (Final Report) ตรวจสอบ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 มีผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดรุ่นความเร็ว 0.5 เมตรต่อวินาที ที่ได้รับการรับรองจาก TSA แล้ว 2 ราย คือ เครื่อง MV3D ของบริษัท L3 Communications และ เครื่อง Hi-Scan10080XCT ของบริษัท Smith Detection และอยู่ในระหว่างขออนุญาต 2 ราย คือ เครื่อง CTX9800DSi ของบริษัท Morpho Detection และเครื่อง X1000 ของบริษัท SureScan
มีข้อสังเกตว่าเครื่อง CTX9800DSi ของบริษัท Morpho Detection เดิมนั้นปัจจุบันได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Smith Detection แล้วจากการเข้าซื้อกิจการ ดังนั้น ข้อกำหนดรายละเอียดของการประกวดราคานี้ จึงมิได้เป็นการปิดกั้น หรือกำหนดตัวเอกชนในการจัดหาไว้แต่อย่างใด
ทอท. แจงข้อท้วงติงจากตัวแทนจำหน่าย CTX
ส่วนกรณีที่นายวรพจน์ ยศะทัตต์ ตัวแทนขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดยี่ห้อ CTX ในประเทศไทย กล่าวอ้างว่า ร่าง TOR ประมูลงานโครงการนี้ ไม่แตกต่างจากร่างเดิมที่เคยทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บริหาร ทอท. รวมถึง รมว.คมนาคม และรัฐบาล กีดกันไม่ให้เครื่อง CTX เข้าร่วมประมูล โดยเฉพาะการกำหนดรุ่นที่มีความเร็วสายพานไม่น้อยกว่า 0.5 เมตรต่อวินาที ที่ได้รับการรับรองจาก TSA ซึ่งจะทำให้ CTX ไม่ผ่านคุณสมบัติทันที รวมถึงการจัดทำราคากลางจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดกับสายพานลำเลียงวงเงิน 2.8 พันล้านบาท บริษัทที่ปรึกษา ที่รับจ้างจัดทำ TOR ไม่เคยสอบถามราคาเครื่อง CTX จากบริษัทมาก่อนนั้น
ทอท.ชี้แจงว่า ในการจัดทำราคากลางของงานจ้างปรับปรุงระบบตรวจสอบวัตถุระเบิดฯ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้มีการสอบราคาไปยังผู้ผลิตเครื่อง EDS ความเร็วสูง 0.5 เมตรต่อวินาที และได้รับการเสนอราคา ซึ่งเป็นราคาที่ครอบคลุมถึงงานปรับปรุงสายพานหน้าเครื่องและหลังเครื่องแล้ว
ทั้งนี้ ทอท. มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จำนวน 26 เครื่อง และปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 2,880,500,000 บาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :