ไม่พบผลการค้นหา
กระแสอีคอมเมิร์ซมาแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้บรรดาธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวขนานใหญ่ และเจ้าแห่งอีคอมเมิร์ซเองก็ปรับตัว ผนวกรวมการช็อปแบบดั้งเดิมเข้ากับออนไลน์ ด้วยการเปิดตัวซูเปอร์มาร์เก็ตไร้แคชเชียร์ Amazon Go ที่ลูกค้าสามารถหยิบสินค้าแล้วเดินออกจากร้านได้ทันทีโดยไม่ต้องหยุดชำระเงิน

1 ปีที่แล้ว แอมะซอน ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เปิดบริการ Amazon Go หรือซูเปอร์มาร์เก็ตไร้แคชเชียร์ให้พนักงานทดลองใช้ เพื่อนำร่องก่อนเปิดสาขาให้ลูกค้าใช้จริงในนครซีแอทเทิล สหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของแอมะซอน โดยในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้ มีหน้าตาและสินค้าเหมือนกับซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปทุกประการ เพียงแต่ไม่มีแคชเชียร์คอยเก็บเงินลูกค้า ไม่มีแม้แต่เคาน์เตอร์เซลฟ์เช็คเอาท์ ที่ให้ลูกค้าสแกนบาร์โค้ดสินค้าเพื่อจ่ายเงินด้วยตัวเอง แต่ใช้ระบบการติดตั้งกล้องและเซ็นเซอร์ทั่วทั้งร้าน รวมถึงใช้ระบบอัลกอริธึมในการสอดส่องความเคลื่อนไหวของลูกค้าว่าหยิบสินค้าอะไรบ้าง และเมื่อลูกค้าเดินออกจากร้าน ระบบจะตัดเงินจากบัตรเครดิตที่ลูกค้าลงทะเบียนไว้โดยอัตโนมัติ

AP18022013738222.jpg

โฉมหน้าร้าน Amazon Go ในนครซีแอทเทิล มลรัฐวอร์ชิงตัน ตอนนี้ Amazon ยังไม่มีแผนขยายกิจการ Amazon Go ไปยังเมืองอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ระบบนี้มีช่องโหว่มากกว่าที่แอมะซอนคาดไว้ เช่นการไม่สามารถแยกลูกค้าที่มีรูปร่างใกล้เคียงออกจากกันได้ และปัญหาเเด็กๆเอาของออกจากชั้นไปเล่น แล้ววางของผิดชั้น ทำให้ระบบเกิดความสับสน ซึ่งทีมงานของแอมะซอนต้องใช้เวลานานถึง 1 ปีเต็มในการปรับปรุง Amazon Go ให้ใช้การได้จริง

และในที่สุด เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา Amazon Go สาขาแรกในนครซีแอทเทิลก็เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ โดยแอมะซอนยืนยันว่าหลังจากให้ระบบเก็บข้อมูลเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า โดยมีพนักงานของแอมะซอนเป็นเหมือน "หนูทดลอง" มาตลอด 1 ปีเต็ม อัลกอริธึมของ Amazon Go ก็สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นการแยกแยะลูกค้า หรือการแยกสินค้าที่คล้ายกันมากออกจากกัน เช่นน้ำอัดลมยี่ห้อเดียวกันแต่คนละรสชาติ

AP18022599199559.jpg

ทางเข้าร้าน Amazon Go จะมีช่องให้ลูกค้าสแกนคิวอาร์โค้ด แสดงตัวตนในระบบ ก่อนจะเข้าไปเลือกสินค้าได้ตามใจ โดยสามารถเดินออกจากร้านได้ทันทีที่เลือกสินค้าเสร็จ ระบบจะคิดเงินโดยตัดบัญชีในบัตรเครดิตที่ได้ลงทะเบียนไว้กับแอคเคาท์ของ Amazon Go

แม้ว่าแอมะซอนจะไม่ได้อธิบายอย่างละเอียดว่าระบบนี้ทำงานอย่างไรกันแน่ แต่ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าแม้ Amazon Go จะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใช้คอนเซ็ป "หยิบแล้วไปได้เลย" หรือ "Grab and Go" แต่ลูกค้าจะไม่สามารถขโมยของออกจากร้านได้ เนื่องจากมีผู้สื่อข่าวที่เข้าไปทดลองระบบของร้าน และพยายามหยิบน้ำอัดลมออกมาโดยไม่ให้กล้องตรวจจับได้ แต่ก็พบว่าสินค้าชิ้นนั้นถูกคิดเงินในระบบบัญชีบัตรเครดิตอยู่ดี โดยนอกจากกล้องอินฟราเรดหลายร้อยตัวที่ติดตั้งอยู่ในร้าน ชั้นวางของยังมีระบะตรวจสอบน้ำหนักเพื่อให้รู้ว่าสินค้าถูกหยิบไปกี่ชิ้น และสินค้าบางชิ้นก็มี "ดอทโค้ด" ซึ่งคล้ายกับบาร์โค้ด เพื่อให้กล้องตรวจจับสินค้าได้

AP18022604626435.jpg

ผู้ใช้บริการ Amazon Go สำรวจกล้องอินฟราเรดที่ติดตั้งอยู่บนเพดานนับร้อยตัว จับจ้องทุกการเคลื่อนไหวของนักช็อป

การเปิดใช้งาน Amazon Go อย่างเป็นทางการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติธุรกิจค้าปลีกครั้งใหญ่อีกครั้ง เนื่องจากนี่คือการหลอมรวมกันระหว่างการใช้อีเพย์เมนต์และการช็อปปิงแบบดั้งเดิมเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ และหาก Amazon Go สาขาแรกประสบความสำเร็จ จนมีการขยายสาขาต่อไป ก็จะกลายเป็นการนำเทรนด์ธุรกิจค้าปลีกแบบใหม่ ที่ร้านค้าไม่จำเป็นต้องมีพนักงานจำนวนมาก และลูกค้าใช้จ่ายแบบไร้เงินสดได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เสียเวลาแม้แต่การหยิบบัตรเดรดิตหรือสแกนบาร์โค้ดจากสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาน่าเบื่อของการต้องต่อคิวยาวในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อจ่ายเงิน เพราะบรรดาธุรกิจค้าปลีกต่างทราบดีว่ายิ่งลูกค้าจ่ายเงินได้เร็วเท่าไหร่ ก็มีโอกาสจะกลับมาซื้อของที่ร้านนั้นๆอีกมากขึ้นเท่านั้น

นอกจาก Amazon Go แอมะซอนยังบุกตลาดค้าปลีกอาหารสดและของชำ ด้วยบริการเดลิเวอรี Amazon Fresh ที่ปัจจุบันให้บริการในหลายเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ รวมถึงในกรุงโตเกียว เบอร์ลิน และลอนดอน ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าได้ทางออนไลน์ในเว็บไซต์ และมีบริการส่งหรือนัดรับสินค้าจากร้านด้วย แต่ดูเหมือนบริการนี้จะไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากแอมะซอนประกาศยกเลิกบริการในหลายเมืองเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ในปี 2017 แอมะซอนยังเพิ่งซื้อ Whole Foods เชนซูเปอร์มาร์เก็ตออร์แกนิกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้แวดวงธุรกิจจับตามองว่าแอมะซอนจะเอาจริงกับธุรกิจค้าปลีก แต่จนถึงขณะนี้แอมะซอนยังไม่ระบุว่าจะใช้นวัตกรรมแบบ Amazon Go ในซูเปอร์มาร์เก็ตของ Whole Foods หรือไม่