เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการพูดคุย หารือพรรคการเมืองรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นประธาน ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ ที่สโมสรทหารบกวิภาวดีรังสิต ว่า เบื้องต้นการพูดคุยพรุ่งนี้ (25 มิ.ย.) จะส่งตัวแทนพรรคเดินทางเข้าไปรับฟังว่าทางพล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานที่ประชุมจะมีข้อประเด็นไหนบ้างที่จะส่งมายังพรรคการเมือง ซึ่งหากมีการกำหนดข้อปฎิบัติแก่พรรคการเมือง ตนและพรรคภูมิใจไทยก็พร้อมจะปฎิบัติตามอยู่แล้ว ส่วนตัวคงไม่มีอะไรจะไปนำเสนอโดยทางพรรคขอรอฟังข้อเสนอจากรัฐบาลก่อนดีกว่า ส่วนที่ตนไม่ได้เดินทางไปร่วมประชุมเองนั้นเป็นเพราะตนติดภารกิจสำคัญ และไม่สามารถเลื่อนออกไปได้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
เมื่อถามถึง ระบบไพรมารี่โหวตจะกระทบต่อปัญหาสมาชิกพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตนขอยืนยันว่าทางพรรคจะสามารถทำระบบไพรมารี่โหวตทันแน่นอน โดยที่รัฐบาลก็ต้องปลดล็อกพรรคการเมืองให้สามารถรับสมาชิกพรรคเพิ่มได้ด้วย อีกทั้งจำนวนสมาชิกของพรรคภูมิใจไทยที่ตอนนี้มีอยู่ 1,000 กว่าคนนั้น ตนก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่สามารถทำให้พรรคสามารถจัดระบบงานด้านธุรการ ด้านเอกสารให้ลงตัวได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ดีในการสังคายนาสมาชิกพรรคที่ก่อนหน้านี้มีสมาชิกกว่า 100,000 คน เพราะบางครั้งอาจจะมีสมาชิกพรรคบางคนที่ไม่ประสงค์จะอยู่พรรคภูมิใจไทยต่อก็ได้ เป็นเหมือนการล้างสต๊อกใหม่ พร้อมเปิดให้สมาชิกใหม่เข้ามาด้วย ส่วนประเด็นการปลดล็อกพรรคการเมืองนั้นตนอยากให้มีการปลดล็อคพรรคการเมืองได้แล้ว เพราะถึงเวลาแล้ว
" อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไว้ใจเชื่อใจระบบการเมืองในประเทศไทยได้แล้ว เพราะการเลือกตั้งตามโรดแม็ปมันต้องเกิดขึ้น ซึ่งมันถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรจะมีสัญลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตย ประเทศไทยควรจะมีอำนาจประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่จะทำให้เกิดความมั่นใจทั้งภายในประเทศ และนานาประเทศด้วย ถามว่าปัญหาพรรคการเมืองในขณะนี้คงไม่มีอะไรมาก นอกจากการเปิดรับสมัครชิกพรรค และการเปิดประชุมพรรค นอกจากนั้นก็คงไม่มีอะไรแล้ว " นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ปัญหาการจำกัดสิทธิ์ต่างๆ ของพรรคการเมือง และการใส่ล็อกพรรคการเมืองมันไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญแต่เป็นอำนาจของหัวหน้าปฏิวัติ ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ อย่าเอาไปรวมกัน ซึ่งการปลดล็อคหากปลดล็อคแล้วต้องปลดล็อกให้ขาด ต้องเชื่อมั่นซึ่งกันและกันในความต้องการที่จะเห็นบ้านเมืองก้าวหน้า อีกทั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.ประกาศเตรียมการไปสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพิธีสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยรอคอยมา ดังนั้นการที่คาดว่ายังไม่ปลดล็อคพรรคการเมืองเพราะหวั่นว่าจะมีการก่อความไม่สงบเรียบร้อยหรือการออกมากดดันต่างๆ ตนรับรองว่าคงไม่มีใครออกมาทำเช่นนั้น ในเมื่อประเทศไทยจะมีแต่สิ่งดีๆเเละเป็นมงคล หลังจากนั้นก็คงต้องเข้าสู่การเลือกตั้งเต็มรูปแบบ
“มาร์ค” ชี้กระแสดูดหากใช้เงิน-คดี มาเป็นข้อต่อรอง หวั่นทำการเมืองถอยหลัง
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการร่วมพูดคุยกับรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่ 25 มิ.ย. นี้ ว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังคงยืนยันคือ ถ้าคสช.ยกเลิกคำสั่งที่เป็นอุปสรรคการทำงานพรรคการเมือง พรรคจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ อยู่ที่คสช.ว่าจะดำเนินการได้เมื่อไหร่ เพราะทั้งหมดเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการเมือง ถ้าพรรคการเมืองไม่สามารถทำอะไรได้ก็เหมือนการปฏิรูปการเมืองเสียเปล่า ส่วนข้อห่วงใยเรื่องความมั่นคง คสช.สามารถใช้กฎหมายอื่นดำเนินการได้ แต่ด้านพรรคการเมืองน่าจะได้เดินตามกฎหมายที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อถามถึง กระแสถูกดูดในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การแข่งขันยังไม่ยุติเป็นเรื่องธรรมดาแต่ตนขอย้ำอีกครั้งว่าถ้าเอาเรื่องผลประโยชน์ตำแหน่งเงินทองคดีความมาต่อรอง จะทำให้การเมืองถอยหลัง
เมื่อถามต่อถึง กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระบุพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป นายอภิสิทธิ์ กล่าว ก็เป็นความเห็นของนายทักษิณ
“จาตุรนต์” เย้ย คสช. ปมดูดนักการเมือง
ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ และแกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยไม่เข้าร่วมพูดคุยกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในวันที่ 25 มิ.ย. นี้ ว่า การเรียกพรรคการเมืองเข้าพูดคุย การกำหนดวันเลือกตั้ง รวมถึงการปลดล็อคพรรคการเมืองไม่ใช่หน้าที่ของคสช. เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เราจึงไม่คาดหวังอะไรจากเวทีดังกล่าว การที่พรรคไม่เข้าร่วม ตนมองว่าคงไม่เกิดความเสียหายอะไร เพราะผลออกมาอย่างไรเราก็พร้อมปฏิบัติตาม รวมทั้งมองว่าอุปสรรคของพรรคการเมืองที่เกิดจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ควรเป็นหน้าที่ของกกต.ในการเรียกพรรคการเมืองเข้าพูดคุย พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลก่อนส่งไปยังคสช. ถ้ากกต.เสนอทางออกให้คสช.แล้วจะไปปรับปรุงหรือแก้ไขอย่างไรก็ควรดำเนินการ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ และแกนนำพรรคเพื่อไทย
เมื่อถามถึง กระแสดูดส.ส.อ���กจากพรรคเพื่อไทย นายจาตุรนต์ กล่าวว่า พรรคยังไม่ได้ประเมินกันอย่างละเอียด เขาออกกติกาต่างๆ หาทางทำลายพรรคการเมืองเก่าให้อ่อนแอ สนับสนุนบางพรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองใหม่ พยายามดึงคนไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจของ คสช. ไม่ใช่เรื่องแปลกส่วนจะสำเร็จหรือไม่ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน จะได้รู้ว่าพรรคไหนได้ส.ส.เท่าไหร่ คสช.มี ส.ส.ในมือเท่าไหร่ ไม่ใช่ดูว่าคสช.มีอดีตส.ส.ในมือเท่าไหร่
ขอบคุณภาพ Photo by Ariel Besagar on Unsplash