นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ส.ค. 2561 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนทุกรายการและดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 64 เดือนโดยเฉพาะความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตปรับตัวดีขึ้นมากต่อเนื่องจนอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 165 เดือน เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
นอกจากนี้ ผู้บริโภคเห็นว่าราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้นน่าจะส่งผลดีกำลังซื้อในหลายจังหวัดทั่วประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้าง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 70.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม 78.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 101.2 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือน ก.ค. 2561 ที่อยู่ในระดับ 69.1, 77.3 และ 100.2 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) ซึ่งแสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก
แต่การที่ดัชนีทุกรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 82.2 มาอยู่ที่ระดับ 83.2 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 64 เดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2556 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมันและราคาสินค้าปศุสัตว์ ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม แต่สิ่งที่เห็นชัดคือในเดือน ส.ค. นี้ ผู้บริโภคกลับมามั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง
ผู้บริโภคยังมีความหวัง อีก 6 เดือนสถานการณ์ดีขึ้น
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวดีขึ้น โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 93.5 มาอยู่ที่ระดับ 94.6 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 165 เดือนนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2547 เป็นต้นมา และเริ่มปรับตัวใกล้เคียงระดับ 100 (ซึ่งเป็นระดับปกติ) มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคตอันใกล้
โดยการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นเป็นลำดับต่อเนื่องอีกครั้ง หลังจากที่ปรับตัวลดลงชั่วคราวในช่วง 3 เดือนที่แล้วเนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยยังขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้รายได้ของภาคการเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตกลับมาสู่ระดับ 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 64 เดือน จะทำให้ผู้บริโภคกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเป็นลำดับ และจะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมาขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้น และหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่าระดับร้อยละ 4.5 ได้ในปี 2561
"เท่าที่ได้ประเมิน คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตกลับมาอยู่ที่ระดับ 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 64 เดือน ประกอบกับความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองขึ้นมาสู่ระดับ 100 เป็นครั้งแรก ทำให้ผู้บริโภคกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้งในวันที่ 13 ก.ย.นี้ " นายธนวรรธน์ กล่าว
กกร.คาดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังชะลอตัว เนื่องจากท่องเที่ยว-ส่งออก
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2561 ขยายตัวสูงกว่าที่คาด โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออก, การท่องเที่ยว, การบริโภคภาคเอกชน และการผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวสูง ซึ่งเมื่อประกอบกับไตรมาสแรก บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังสามารถรักษาแรงส่งการเติบโตที่ดีได้อย่างต่อเนื่องโดยเติบโตประมาณที่ระดับร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าในไตรมาสต่อไป อาจมีการชะลอตัวจากการส่งออกและการท่องเที่ยว
จากข้อมูลล่าสุดในเดือน ก.ค. สะท้อนว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้บางเครื่องชี้เริ่มชะลอลงอย่างจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ภูเก็ตเฉพาะกรุ๊ปทัวร์ แต่สำหรับผู้เดินทางท่องเที่ยวเองยังคงเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงหดตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ กกร. มองว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตผ่อนแรงลง จากการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของการส่งออก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อน รวมทั้งต้องติดตามการเดินหน้านโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์น้ำต่อผลผลิตภาคเกษตรด้วย ส่วนการท่องเที่ยวยังคาดว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น
สำหรับประเด็นความเปราะบางของเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทั้งตุรกีและเวเนซุเอลานั้น แม้เป็นปัญหาที่เฉพาะตัวของแต่ละเศรษฐกิจ แต่ก็อาจจะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความผันผวนต่อทิศทางค่าเงินบาทได้
โดยรวมแล้ว แม้จะยังคงมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามทั้งในและต่างประเทศ แต่ กกร. ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP), การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อ ในปี 2561 นี้ จะยังคงอยู่ในกรอบประมาณการของ กกร. เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 61 คือ จีดีพีขยายตัวร้อยละ 4.3-4.8 ส่งออกขยายตัวร้อยละ 7-10 และเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวร้อยละ 0.9-1.5
ส.ค. ราคาน้ำมัน -อาหารแพงขึ้น
อีกทั้งก่อนหน้านี้ นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยดัชนีเงินเฟ้อของไทยประจำเดือน ส.ค. 2561 ว่า ขยายตัวร้อยละ 1.6 ซึ่งสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 จากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.77 เนื่องจากอยู่ในช่วงของเทศกาลสารทจีนทำให้สินค้าของสดบางรายการราคาสูงขึ้น รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เพิ่มร้อยละ 12.03 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่มร้อยละ 5.86 ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.13 และค่าโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น 0.69
อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกรายการสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ 422 รายการ พบว่ามีสินค้าราคาสูงขึ้น 226 รายการ ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ข้าวสารเจ้า เพิ่มร้อยละ 8.02 กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม เพิ่มร้อยละ 11.09 ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลงมีจำนวน 112 รายการ และสินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง จำนวน 84 รายการ
นอกจากนี้ ยังมีการปรับตัวสูงขึ้นจากหมวดพลังงานที่มีการขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 ที่ร้อยละ 9.05 สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับกำลังซื้อของภาคประชาชนที่ดีขึ้นสะท้อนจากการจัดเก็บรายได้ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวสูงขึ้น และรายได้ภาคเกษตรมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.12 และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.71
โดยมีปัจจัยที่ยังต้องติดตาม ได้แก่ ต้นทุนการผลิตสินค้าบางชนิดได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทที่ยังมีโอกาสผันผวน ประกอบกับอัตราค่าจ้างเฉลี่ยเริ่มมีสัญญานขยายตัวได้ในอัตราที่ช้ากว่าเงินเฟ้อ ทำให้เงินเฟ้อในระยะต่อไปจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนมาตรการกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการสำคัญที่ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและโลก คาดว่าจะทำให้ความต้องการภาคเอกชนยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพและคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะเคลื่อนไหวในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 0.8 – 1.6
นายกฯ ชี้ ศก.ดีขึ้น เกาะติดตอบโต้ทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้อยู่ในช่วงที่ดีขึ้น แต่จะต้องไม่ลืมผู้มีรายได้น้อย ทั้งราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งจะต้องดูว่าจะแก้ไขกฏหมายอย่างไร แต่ไม่สามารถใช้อำนาจทุกเรื่องได้ เพราะเป็นประเทศที่มีการค้าเสรี
ขณะเดียวกันจะต้องติดตามเรื่องเศรษฐกิจต่างประเทศ และมาตรการตอบโต้ทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งหลายอย่างยังตกลงกันไม่ได้ ทั้งสหรัฐอเมริกา รัฐเซีย และแคนนาดา เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องติดตามและหามาตราการรองรับสิ่งเหล่านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :