ไม่พบผลการค้นหา
ศ.ดร. ดันแคน แมคคาร์โก ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองว่า คนจำนวนมากในภูมิภาคนี้เริ่มโหยหาอดีตอันสวยงามที่ไม่มีอยู่จริงในยุครัฐบาลอำนาจนิยม ทำให้เส้นแบ่งระหว่างรัฐบาลประชาธิปไตยและอำนาจนิยมเริ่มพร่าเลือน

การเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลังมานี้มีแนวโน้มที่จะมุ่งสู่รัฐบาลอำนาจนิยมกันมากขึ้น จนนักรัฐศาสตร์ทั่วโลก แสดงความกังวลต่อประชาธิปไตยที่ถดถอยลงในภูมิภาคนี้ ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ ดันแคน แมคคาร์โก ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลีดส์ของอังกฤษ ระบุว่า อันที่จริง การเมืองทั่วโลกกำลังอยู่ในยุค Post Truth หรือยุคที่คนไม่สนใจข้อเท็จจริงเท่ากับอารมณ์ความรู้สึก อย่างที่เห็นในการลงประชามติเบร็กซิตและการเลือกนายโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องมากเช่นกัน

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การเมืองในภูมิภาคนี้เป็นการเมืองแห่งความหวังและความกลัว ประชาชนจำนวนมากฝากความหวังกับนักการเมืองจำนวนหนึ่งว่าจะเข้ามากอบกู้ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย เช่นที่ชาวเมียนมาคาดหวังกับนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา

นอกจากนี้ ศ.ดร.แมคคาร์โกเห็นว่า การทำประชานิยมผ่านสื่อ ซึ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างการแถลงข่าว การหาเสียง และแถลงนโยบายพร่าเลือนขึ้นเรื่อยๆ โดยยกตัวอย่างว่า ปัจจุบัน รัฐบาลไม่ได้หาเสียงแค่ช่วงใกล้เลือกตั้งเท่านั้น แต่รัฐบาลหลายประเทศใช้ทุกโอกาสในการหาเสียงให้ตัวเองทุกวัน และโจมตีฝ่ายตรงข้ามในทุกโอกาส ขณะเดียวกันเส้นแบ่งระหว่างสื่อมวลชนกับผู้เล่นในเกมการเมืองก็พร่าเลือนเช่นกัน จากที่มีเพียงคอลัมนิสต์ในสื่อสิ่งพิมพ์คอยวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มการเมืองใดกลุ่มหนึ่ง กลายเป็นสื่อทั้งสำนักหรือเจ้าของสื่อเข้าไปมีส่วนร่วมหรือมีผลประโยชน์กับเกมการเมืองเสียเอง


ดันแคน แมคคาร์โก

ศ.ดร. ดันแคน แมคคาร์โก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลีดส์ของอังกฤษ


โหยหาอดีตอันสวยงามที่ไม่มีจริง

ศ.ดร.แมคคาร์โก สังเกตเห็นว่า ช่วงหลังเกิดปรากฏการณ์ทั้งในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทย ที่คนเริ่มโหยหาอดีตในช่วง 20-30 ปีก่อน หรือช่วงที่อยู่ในรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลอำนาจนิยม โดยหลายคนเชื่อว่ายุคที่อยู่ภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยมมีความสงบสุขและเศรษฐกิจ แม้ความเชื่อนั้นจะขัดกับข้อเท็จจริง ซึ่งนักการเมืองหลายคนก็นำปรากฏการณ์นี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง

“มันก็น่าสนใจที่ คนสามารถที่จะมีความรู้สึกที่ดีต่อช่วงที่ตัวเองยังไม่ได้เกิดอย่างคนอินโดนีเซียสมัยนี้หลายคน อาจจะ 30-40% เป็นคนอายุน้อย จำสมัยซูฮาร์โตไม่ค่อยได้ แต่เขาก็ยังมีไอเดียเกี่ยวกับสมัยซูฮาร์โต ฟิลิปปินส์ก็เหมือนกันกับมาร์กอส คนที่ยังไม่เกิด ช่วงที่มาร์กอสออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ยังมีไอเดีย แต่ไอเดียนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นจริง เป็น Post-truth idea ก็คือ สมัยนั้นมันคงเป็นช่วงที่ดีมาก โดยที่เขาเองก็จำไม่ค่อยได้ สามารถมีความรู้สึกต่อประวัติศาสตร์ที่เราไม่ค่อยได้ผ่านโดยส่วนตัว ก็เป็นสิ่งแปลก แต่เป็นเครื่องมือที่นักการเมืองเอาไปใช้ได้เป็น national narrative เป็นเรื่องที่นักการเมืองสามารถที่จะเล่าให้ฟังได้”



อินโดนีเซีย ประท้วงซูฮาร์โต 1998

ชาวอินโดนีเซียประท้วงขับไล่เผด็จการซูฮาร์โตปี 1998

ทำไมผู้นำอำนาจนิยมยังจัดการเลือกตั้ง?

ศ.ดร.แมคคาร์โก กล่าวว่า การเลือกตั้งยังเป็นสิ่งสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การเลือกตั้งไม่ได้กำหนดว่าใครคือผู้กุมอำนาจ เช่น การที่พรรค NLD ของนางอองซาน ซูจีชนะการเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีอำนาจในการบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ เพราะกองทัพก็ยังคงกุมอำนาจด้านความมั่นคงละมีสิทธิในการวีโตในรัฐสภาอยู่

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.แมคคาร์โกอธิบายว่า แทบจะไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่อยากมีการเลือกตั้ง แม้จะมีพรรคการเมืองอยู่พรรคเดียว อย่างเวียดนามที่มีแต่พรรคคอมมิวนิสต์ ก็ยังอยากจะให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะแสดงถึงความชอบธรรมของรัฐบาล

เรามักจะสับสน แล้วก็เข้าใจว่า ที่มีการเลือกตั้งก็หมายความว่า ต่อไปประชาชนก็จะมีทางเลือกอย่างแท้จริง บางครั้ง เราก็มีการเลือกตั้ง แต่จริงๆ แล้วก็ไม่มีทางเลือกอะไรอย่างที่เกิดขึ้นที่กัมพูชาเมื่อสองเดือนก่อน

เมื่อปลายปี 2017 ศาลกัมพูชาสั่งแบนพรรคกู้ชาติกัมพูชา หรือ CNRP พรรคฝ่ายค้านสำคัญของกัมพูชา ด้วยข้อหาสมคบคิดกับต่างชาติในการโค่นล้มรัฐบาล ทำให้นานาชาติประณามว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบธรรม แต่นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาก็ยังยืนยันจะให้มีการจัดการเลือกตั้งตามเดิม จนทำให้พรรครัฐบาลครองที่นั่งในสภาทั้งหมด


ฮุนเซน.jpg

นายฮุน เซน ยากรัฐมนตรีกัมพูชาไปใช้สิทธิเลือกตั้ง


นักการเมือง “วางโต”

ศ.ดร.แมคคาร์โกระบุว่า ช่วงหลังมานี้ สถาบันพรรคการเมืองเริ่มอ่อนแอลง ประชาชนให้ความสำคัญกับหัวหน้าพรรค หรือบุคคลในพรรคมากกว่าจุดยืนหรือนโยบายของพรรค โดยถ้าเทียบจาก 10 - 20 ปี ดูเหมือนว่านโยบายไม่ได้สำคัญเท่าเดิม

“หากพรรคใดไม่มีผู้สมัครที่ถูกจับตามองและให้ความสนใจมาก หรือเป็นหัวหน้าพรรคที่ไม่เด่น ไม่มีชื่อเสียง โอกาสที่จะชนะและโอกาสที่จะตั้งรัฐบาลก็น้อย แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่หรือมีนโยบายที่ค่อนข้างดีมาก”

ศ.ดร.แมคคาร์โกมองว่า นักการเมืองที่มี “big personalities” หรือมีบุคลิกวางโตได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหลายคนก็ใช้ประโยชน์จากความหวาดกลัวมาปลุกเร้าอารมณ์ความรุนแรงจนชนะการเลือกตั้งไปได้ เช่น นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ประกาศจะทำสงครามกับยาเสพติด ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่

หลังจากนี้ ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะยังมีการแบ่งขั้วทางการเมืองกันต่อไป ไม่มีแนวโมว่าจะหาจุดตรงกลางระหว่างกันได้ และลักษณะสำคัญที่เริ่มก่อตัวขึ้นก็คือ การขึ้นมาของคนที่มีบุคลิก “วางโต” ซึ่งเขาระบุลักษณะเด่นของคน “วางโต” ในภูมิภาคนี้คือ เป็นผู้ชาย ชอบพูดเสียงดัง มีบุคลิกการแสดงออกชัด มักพูดจารุนแรงหรือปลุกเร้าอารมณ์รุนแรง



Duterte ดูแตร์เต

นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตัวอย่างของคนที่มีบุคลิก "วางโต"

พรรคอนาคตใหม่ คือความหวัง?

รองศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ จันทรานุช มหากาญจนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเปรียบเทียบจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิด้าระบุว่า พรรคการเมืองใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ ก็ยังมีนักการเมืองที่มีบุคลิก “วางโต” เหมือนกับพรรคการเมืองเก่าๆอยู่ ในแง่ของการเข้ามาปลุกเร้าอารมณ์ของคนว่าจะมาช่วยกอบกู้ประเทศกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น จึงยังเห็นคนชื่นชอบตัวบุคคลมากกว่าตัวพรรคการเมืองเองมากกว่า

ด้านศ.ดร.แมคคาร์โกกล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่อาจมีจุดยืนทางการเมืองที่ค่อนไปทางเสรีนิยม และดึงดูดฐานเสียงคนรุ่นใหม่และคนกลุ่มน้อย แต่ก็ยังต้องจับตากันต่อไปว่า จะมีคนออกไปใช้สิทธิเลือกพรรคใหม่มากแค่ไหน เพราะคนรุ่นใหม่สนใจแต่ในโลกเสมือนจริงอย่างโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ได้ใส่ใจกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในคูหาเท่าที่ควร ซึ่งเห็นได้ชัดจากการลงประชามติเบร็กซิต

นอกจากนี้ คนที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบการเมืองในไทยก็จะรู้ดีว่า หากพรรคการเมืองไม่มีหัวคะแนนในพื้นที่คอยกระตุ้นให้คนไปเลือกตั้งก็ถือเป็นเรื่องยากมากที่คนจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งพรรคใหม่ๆ


ธนาธร.jpg

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ประชาธิปไตยคือกระบวนการ

รศ.ดร. จันทรานุช อธิบายว่า ช่วงก่อนปี 2540 ประชาธิปไตยของไทยเกิดขึ้นจากกลุ่มชนชั้นนำเป็นคนคิดว่าผลลัพธ์ของประชาธิปไตยไทยจะต้องเป็นอย่างไร ซึ่งชนชั้นนำยังมีมุมมองเรื่องประชาธิปไตยที่ตรงกัน ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่ช่วงหลังปี 2540 ชนชั้นนำเริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่แตกต่างกันออกไป ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เมื่อมีกลุ่มผลประโยชน์เพิ่มขึ้นก็ทำให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของประชาธิปไตย ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำในสังคมก็เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้การเมืองไทยเดินเข้าสู่ความวุ่นวาย ทั้งที่ประชาธิปไตยคือการออกแบบกระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์

ประชาธิปไตยมันคือกระบวนการ ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่หยั่งรากลึก คนในสังคมเขาจะไม่ค่อยแน่ใจหรือมั่นใจ 100% ว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนในสังคมของประเทศเขา เนื่องจากว่า ในสังคมประชาธิปไตยจะมีความแตกต่างหลากหลายค่อนข้างมาก ดังนั้น การจะตัดสินว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด หรืออะไรคือผู้นำที่ดีที่สุด ลักษณะผู้นำที่ดีที่สุด หรือนโยบายไหนเป็นนโยบายที่เหมาะสมที่สุดในประเทศนั้นๆมันจึงต้องผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งสำคัญมากเพราะคนที่มีความคิดเห็น มีผลประโยชน์ที่แตกต่างเข้าไปแข่งขัน แย่งชิงทรัพยากร หรือแก้ปัญหาให้กลุ่มผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้น กระบวนการตรงนี้จะเป็นกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง

“ถ้าในสังคมที่มีลักษณะที่เราทราบอยู่แล้วว่าสิ่งที่ดีที่สุดคืออะไร อะไรคือคำตอบสำหรับประเทศไทย มันก็จะทำให้กระบวนการประชาธิปไตยมันลดความสำคัญลงไป เพราะเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าเราต้องการให้ผลมันออกมาเป็นอย่างไร เราจะให้ความสำคัญกับผลมากกว่ากระบวนการ เราก็ออกแบบกระบวนการให้ออกมาในทางนั้น มันก็เลยเกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เกิดการแบ่งขั้วกัน มันไม่ได้เกิดจากการหลอมกระบวนการของการสื่อสารทางการเมือง หรือกระบวนการสื่อสารความต้องการของกลุ่มต่างๆ ที่แตกต่างกันไปในสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ”



จันทรานุช มหากาญจนะ

รศ.ดร. จันทรานุช มหากาญจนะ จากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิด้า


ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองแล้วต้องปฏิรูปวัฒนธรรมการเมืองด้วย

เมื่อพูดถึงกระบวนการทางประชาธิปไตย รศ.ดร. จันทรานุชได้ยกตัวอย่างว่าที่ผ่านมา ไทยร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแบบที่ตั้งธงไว้แล้วว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ไม่ได้ใช้กระบวนการทางการเมืองให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมมากนัก แต่ปัญหาก็ไม่ได้มีแค่นั้น เพราะแม้จะมีคนมองว่า รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เพราะประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุด แต่ก็ยังไม่แก้ปัญหาการเมืองได้ โดยรศ.ดร. จันทรานุชระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า การปฏิรูปการเมืองในประเทศไทยที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้างมากกว่าวัฒนธรรมทางการเมือง

“การให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง คือการเปลี่ยนกฎกติกา เขียนรัฐธรรมนูญ คิดว่าถ้าเปลี่ยนตรงนั้นแล้ว ทุกอย่างมันก็จะเป็นไปตามนั้นเหมือนกับชาติตะวันตกหรือประเทศที่มีความเป็นเสรีประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมา ไทยอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปวัฒนธรรมเท่าไหร่หรือลักษณะของวัฒนธรรมทางการเมืองของคนในสังคม ทำให้เกิดความไม่ตรงกันระหว่างสิ่งที่เราอยากให้เป็นกับสภาพของสังคมไทยจริงๆ”

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร. จันทรานุชเห็นว่า พัฒนาการทางการเมืองของไทยดีขึ้นมาก เพราะโซเชียลมีเดียก็เป็นพื้นที่ที่สำคัญที่คนในสังคมสามารถใช้แสดงความคิดเห็น และข่าวสารถึงกันด้วยความรวดเร็ว ทำให้ไทยมีพลวัตรของการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ความขัดแย้งก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เป็นธรรมชาติของสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย แต่เรื่องข้อเท็จจริง การสื่อสาร การให้ข้อมูลความเป็นจริง ความสามารถในการวิเคราะห์การเมืองมีความสำคัญมากในสังคมไทย



ประชาธิปไตย-รัฐธรรมนูญ


เข้าใจข้อเสียของประชาธิปไตยเสียก่อน

ศ.ดร. แมคคาร์โกกล่าวว่า การเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงหลังมานี้ มักมีการพูดถึงหลักการประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพอย่างเลื่อนลอย ไร้ความหมาย ขณะเดียวกันประชาชนที่ประกาศว่าต้องการรัฐบาลเสรีประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งก็ยกย่องผู้นำอำนาจนิยม เช่น การเลือกมหาเธร์ โมฮัมหมัดเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เส้นแบ่งระหว่างประชาธิปไตยและอำนาจนิยมจึงพร่าเลือน

รศ.ดร. จันทรานุชแสดงความเห็นว่า การตัดวงจรทางการเมืองไม่ให้คนโหยหารัฐบาลอำนาจนิยมระหว่างมีรัฐบาลประชาธิปไตย หรือโหยหารัฐบาลประชาธิปไตยเมื่ออยู่ใต้รัฐบาลอำนาจนิยมก็คือการทำความเข้าใจกับสังคมว่าประชาธิปไตยก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย เพราะที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกผิดหวังกับข้อเสียประชาธิปไตยจนกลับไปโหยหารัฐบาลอำนาจนิยม



ประยุทธ์

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

หากต้องการมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยจะไม่นิ่งนอนใจหรือปล่อยให้อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของผู้ที่ใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล การที่มีรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชันก็แสดงว่าเจ้าของทรัพยากรไม่ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารงานของภาครัฐคิดว่าเลือกตั้งแล้วจบกัน โดยสวดมนต์ภาวนาว่าจะได้คนดีเข้าไปอยู่ในเวทีทางการเมือง ซึ่งจริงแล้ว ในคอนเซปต์ของประชาธิปไตยจริงๆ จะไม่เชื่ออย่างนั้น

พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยจะออกแบบโครงสร้างให้มีลักษณะของการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะเชื่อว่า อำนาจเบ็จเสร็จฉ้อฉลอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นการตรวจสอบถ่วงดุล มันก็คือความไม่มีประสิทธิภาพ ลดความมีประสิทธิภาพลงไป แต่ก็จะได้ความปลอดภัย มีตัวแทนประชาชน มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดสรรทรัพยากรจริง ในขณะที่รัฐบาลเผด็จการก็อาจจะเป็นรัฐบาลที่ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูง แต่สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะถูกลิดรอนไปตามโครงสร้างของมัน

ก็คงจะต้องเลือกว่า เราพร้อมจะเหนื่อย พร้อมจะลงทุน ลงแรง ลงใจ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น ให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นหรื���เปล่า ถ้าเราอยู่เฉยๆ แล้วเราต้องการประชาธิปไตย ก็คิดว่าคงเป็นไปไม่ได้ คิดว่าคงจะยาก คิดว่าคงจะไม่หยั่งรากลึก