มิซูซุ คาเนโกะ เป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่มีชีวิตอยู่ช่วง พ.ศ.2446-2473 และได้เรียนจนจบชั้นมัธยมปลาย เพราะแม่ของเธอซึ่งเป็นเจ้าของร้านหนังสือยืนยันว่า 'การศึกษา' คือสิ่งสำคัญ ทำให้มิซูซุรู้หนังสือและมีความเชี่ยวชาญด้านภาษา และเมื่อลองส่งบทกวีเข้าประกวดในนิตยสารซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น เธอก็เป็นผู้ชนะรางวัลแทบทุกครั้ง
บทกวีของมิซูซุเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักอ่านวรรณกรรมในประเทศ และมีชื่อเสียงโด่งดังเพราะเป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนในแวดวงนั้น ส่วนผลงานของเธอมีความโดดเด่นที่การใช้ภาษาเรียบง่าย แต่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์และการเปรียบเปรยที่จับใจคนอ่าน โดยผู้ที่วิจารณ์ผลงานของเธอระบุว่า ประเด็นสำคัญที่ชัดเจนในทุกบทกวีของเธอคือการเห็นอกเห็นใจในสรรพสิ่งรอบตัว ทั้งยังมองโลกในแง่จริง
นักวิจารณ์ญี่ปุ่นเห็นพ้องต้องกันว่าบทกวีของมิซูซุไม่เคยหลีกเลี่ยงเมื่อต้องพูดถึงความเศร้า ความตาย หรือภาระอันหนักหน่วงของชีวิต ในขณะที่กวีอีกหลายคนเลือกที่จะถ่ายทอดเรื่องราวประนีประนอม หรือบรรยายโลกและสังคมที่ดูสวยงามเกินจริง
บทกวีที่โด่งดังของมิซูซุบทหนึ่งชื่อว่า Big Catch พูดถึงความดีใจของชาวประมงในหมู่บ้านริมทะเลแห่งหนึ่งซึ่งจับปลาได้เป็นจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกัน ในท้องทะเลคงจะมี 'งานศพหมู่' เพื่อไว้อาลัยแก่ปลานับหมื่นนับพันที่ต้องตาย ส่วนบทกวีอีกบทหนึ่งตั้งคำถามถึงความรู้สึกของลูกวาฬที่ต้องสูญเสียครอบครัวไปจากการล่าวาฬซึ่งเป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ความคิดที่สะท้อนผ่านบทกวีของมิซูซุไม่ได้มีแต่เรื่องเศร้า เพราะประโยคหนึ่งในบทกวียอดนิยมของเธอบอกคนอ่านว่า "เราทุกคนล้วนแตกต่างกัน และนั่นก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว"
ส่วนบทกวีที่มีเนื้อหาให้กำลังใจ ชื่อว่า "เธอคือเสียงสะท้อนใช่ไหม?" (Are you an echo?) ถูกนำไปเผยแพร่ซ้ำหลายครั้งในสถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่น หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อ 11 มี.ค.2554 โดยบทกวีดังกล่าวพูดถึงเสียงสะท้อนแห่งมิตรภาพของผู้คนในสังคม และสำนักพิมพ์ Chin Music Press ในสหรัฐอเมริกา ได้นำบทกวีดังกล่าวไปตั้งเป็นชื่อหนังสือรวมผลงานของมิซูซุ ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อปี 2559
เว็บไซต์เบรนพิคกิ้ง ซึ่งเป็นสื่อวิจารณ์วรรณกรรม นำเรื่องราวของมิซูซุมาเผยแพร่ในวันนี้ (21 มี.ค.2561) เพราะตรงกับ 'วันกวีสากล' และเป็นปีที่ 88 ที่มิซูซุเสียชีวิต โดยเบรนพิคกิ้งระบุว่า มิซูซุเป็นกวีที่อยู่เหนือกาลเวลา เพราะเรื่องราวที่สะท้อนในผลงานของเธอยังคงทันสมัยและจับใจผู้คนจนถึงวันนี้ อีกทั้งน้ำเสียงที่เธอใช้ในการถ่ายทอดบทกวีก็มีความเมตตาปราณีและเห็นใจสิ่งรอบตัว แม้ว่าชีวิตของเธอจะต้องเผชิญกับความโศกเศร้าอยู่มากก็ตาม
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์เจแปนไทม์สของญี่ปุ่นเคยรายงานเอาไว้ว่าบทกวีของมิซูซุสูญหายไประยะหนึ่ง เนื่องจากร้านหนังสือถูกทำลายไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และชื่อของมิซูซุก็แทบจะถูกลืมไป จนกระทั่ง 'เซ็ทสึโอะ ยะซะกิ' นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นในยุคหลังได้รวบรวมผลงานของเธอและตีพิมพ์ขึ้นใหม่
เซ็ทสึโอะ ยะซะกิ ใช้เวลานานกว่า 16 ปีเพื่อตามหาผลงานของมิซูซุ โดยเขาประสบความสำเร็จในปี 2525 เพราะได้พบกับน้องชายของมิซูซุ ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 77 ปี และเป็นผู้มอบสมุดไดอารี 3 เล่มที่เป็นของมิซูซุให้แก่เขา รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตที่แสนสั้นของมิซูซุให้ฟังด้วย
มิซูซุกำพร้าพ่อตั้งแต่อายุได้ 3 ปี แต่ก็โชคดีที่เธอมีแม่ซึ่งมองการณ์ไกล สนับสนุนให้ลูกสาวเรียนหนังสือจนจบมัธยมปลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หายากในสังคมญี่ปุ่นยุคเกือบร้อยปีที่แล้ว และเมื่ออายุย่างเข้า 17 ปี มิซูซุก็มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารหลายเล่มและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ
โชคไม่ดีนักที่เธอแต่งงานกับสามีที่ไม่สนับสนุนการทำงานของภรรยา ทั้งยังไม่ซื่อสัตย์ในชีวิตคู่ เพราะเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อเธอพยายามขอหย่าขาดจากสามีก็ต้องเจอกับความไม่เป็นธรรมซ้ำเติม เพราะกฎหมายญี่ปุ่นในยุคนั้นให้สิทธิแก่สามีในการเป็นผู้เลี้ยงดูลูกเพียงฝ่ายเดียว
มิซูซุตัดสินใจฆ่าตัวตาย และเขียนจดหมายขอร้องให้สามีเธอมอบสิทธิให้แม่ของเธอในการดูแลลูกสาวที่มีด้วยกันหนึ่งคน ซึ่งสามีของเธอยอมรับคำร้องครั้งสุดท้าย และยินยอมให้แม่ของมิซูซุเป็นผู้ดูแลหลานหลังจากเธอล่วงลับไป
มิซูซุเกิดเมื่อเดือนเมษายน 2446 และจบชีวิตตัวเองเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2473 ด้วยวัยเกือบ 27 ปี
เธอคือเสียงสะท้อนใช่ไหม?
ถ้าฉันพูดว่า "มาเล่นกันเถอะ"
เธอก็พูดว่า "มาเล่นกันเถอะ"
ถ้าฉันพูดว่า "โง่จัง!"
เธอก็พูดว่า "โง่จัง!"
ถ้าฉันพูดว่า "ไม่อยากเล่นด้วยแล้ว"
เธอก็พูดว่า "ไม่อยากเล่นด้วยแล้ว"
หลังจากนั้นไม่นาน...
ก็เริ่มเหงา
ฉันพูดว่า "ขอโทษ"
เธอก็พูดว่า "ขอโทษ"
เธอเป็นเพียงเสียงสะท้อนเท่านั้นหรือ?
เปล่าเลย, เธอคือทุกๆ คนต่างหาก
ที่มา: Brain Pickings/ Japan Times/ Misuzu Kaneko
อ่านเพิ่มเติม: