นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยัน ว่ามาตรการช็อปช่วยชาติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. -3 ธ.ค. 2560 นั้น เป็นเลื่อนการจับจ่ายของประชาชนให้เร็วขึ้น เพื่อให้เงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากช่วงปลายปี เป็นช่วงที่ประชาชนวางแผนใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่การมีมาตรการนี้ จะทำให้คนระดับรายได้ปานกลางที่มีพลังในการเสียภาษี เต็มใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น เช่น เดิมอาจซื้อ 1 ชิ้น แต่เมื่อมีมาตรการลดหย่อนภาษี ทำให้ซื้อเพิ่มเป็น 2 ชิ้น จึงไม่ใช่การดึงเงินในอนาคตมาใช้จ่ายก่อน แต่เป็นการเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชน ซึ่งรัฐบาลคิดว่าคุ้มค่า เพราะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ แม้มาตรการครั้งนี้ จะทำให้ต้องสูญเสียรายได้ภาษี ประมาณ 2,000 ล้านบาท
ส่วนรายจ่ายด้านท่องเที่ยวที่ไม่รวมอยู่ในมาตรการปีนี้ เนื่องจากรัฐบาล เห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดี และเป็นช่วงไฮซีซั่น ที่คนวางแผนเดินทางและใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางภาษีเข้ามากระตุ้นอีก
‘การใช้มาตรการทางภาษี รัฐบาลจะไม่ใช้พร่ำเพรื่อ แต่จะใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวปีนี้ดี ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้น’ นายสมชัย กล่าว
สำหรับกรณีที่มีนักวิชาการเสนอให้กระทรวงการคลัง เก็บข้อมูลรายการสินค้าและกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการช็อปช่วยชาติ 2 ปีที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ เป็นผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีประมาณ 6 ล้านคน ส่วนกิจการห้างร้านทั้งรายเล็กและรายใหญ่ รวมทั้งเอสเอ็มอี ตลอดจนผู้ผลิตสินค้าต่างๆ จะได้ประโยชน์ทั้งหมดหากเข้ามาอยู่ในระบบภาษี
คาดว่า มาตรการช็อปช่วยชาติปีนี้ จะมีมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อหักลดหย่อนภาษี มากกว่าที่ประเมินไว้ที่ 22,500 ล้านบาท เพราะเพิ่มระยะเวลาให้ช็อปปิ้งนานขึ้นเป็น 23 วัน ขณะที่ 2 ปีก่อน คือ ปี 2558 มีมูลค่าการใช้จ่าย 12,000 ล้านบาท และปี 2559 เพิ่มมาเป็น 15,000 ล้านบาท