จดหมายล้ำค่าจากรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นจดหมายเพียงฉบับเดียวที่หลงเหลืออยู่แบบสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1688 หรือประมาณ 330 ปีก่อน จากปลายปากกาของ วิลเลี่ยม โซเม่ (William Soame) ผู้แทนการค้าในช่วงเวลานั้น ที่บอกเล่าเหตุการณ์สําคัญต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยา
ปัจจุบัน จดหมายฉบับดังกล่าวตกเป็นสมบัติของ อายุสม์ กฤษณามระ กรรมการสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากร ผู้สะสมตราไปรษณียากร ธนบัตร และเอกสารสำคัญมาตลอด 30 กว่าปี
“จุดเริ่มต้นมาจากสมัยคุณพ่อที่สะสมแสตมป์เป็นงานอดิเรก แล้วหลังจากผมเรียนจบก็หันมาสนใจศึกษาแสตมป์ และธนบัตรอย่างจริงจัง เพราะมันสัมพันธ์เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของประเทศ ส่วนตัวผมสนใจเรื่องพระปรีชาสามารถของกษัตริย์สมัยก่อน โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งไทยเริ่มติดต่อทางการค้ากับต่างประเทศ” นักสะสมเล่าเท้าความ
อายุสม์เผยกับวอยซ์ออนไลน์ต่อว่า เขาครอบครองจดหมายจากรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ทว่าก่อนจดหมายเดินทางมาถึงมือของเขา มันเคยตกเป็นของคุณประกายเพชร นักสะสมชื่อดัง และหลังจากคุณประกายเพชรเสียชีวิตลง ครอบครัวตัดสินใจขายจดหมายเก่าแก่กับบริษัทประมูล (Auction House) ประเทศเยอรมนี ก่อนคุณอายุสม์จะเคาะราคาชนะการประมูลกลับคืนมาได้ และเขาไม่เคยนำไปจัดแสดงที่ใดมาก่อน
รายละเอียดของจดหมายเป็นกระดาษขนาดใหญ่กว่า a4 เล็กน้อย จำนวน 4 แผ่น เขียนแบบหน้าหลังรวมกันเป็น 8 หน้า ส่วนข้อความเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษที่เลือนลางลงตามกาลเวลา ขณะเดียวกันเนื้อความของจดหมายบรรยายการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการปฏิวัติล้มล้างราชบัลลังค์ ตลอดจนการไล่ล่าปราบปรามต่างชาติของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงอํานาจบริหารบ้านเมือง
“โชคดีที่มีนักประวัติศาสตร์คนหนึ่งเคยแกะข้อความของจดหมาย และนำไปตีพิมพ์ในวารสารของอังกฤษ ผมเลยนำข้อความมาเทียบกัน ซึ่งผลปรากฎออกตรงกัน เขาทำไว้ได้ดีมาก เพราะบางคำผมยังอ่านไม่ออกเลย (หัวเราะ)”
จดหมายของโซเม่เล่าถึงการทารุณ การลงโทษศัตรูของแผ่นดินไว้อย่างน่าสะพรึงกลัว และนับเป็นเหตุการณ์ส่วนหนึ่งที่ทําให้คนยุโรปรับรู้ถึงคามรุนแรง และความน่ากลัวของสถานการณ์ในประเทศสยาม
นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่า เหตุการณ์ช่วงเวลาดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศฝรั่งเศสเลือกปฏิบัติต่อไทย โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ประเทศไทยเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสหลายเหตุการณ์ กระทั่งฝรั่งเศสต้องนําเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย แทนการใช้เรือสินค้าดั่งที่เคยปฏิบัติต่อประเทศอื่น จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 หรือ สงครามฝรั่งเศส-สยาม ที่ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดนหลายแห่งให้กับฝรั่งเศส
ท่านคงจะเข้าใจก่อนหน้านี้แล้ว เกี่ยวกับการปฏิวัติของประเทศสยามจากผู้รอบรู้-ผู้ที่ศึกษาทางประวัติศาสตร์เป็นพิเศษที่จะให้ข้อมูล แต่ถึงกระนั้นข้อมูลที่ข้าพเจ้าได้รวบรวมและไตร่ตรองเองนั้น แม้จะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ดูน่าเชื่อถือได้มากที่สุดตามที่ท่านจะได้อ่านดังต่อไปนี้
เริ่มต้นของเดือนมีนาคม กษัตริย์ในขณะนั้น เนื่องจากไม่อาจบริหารราชการแผ่นดินได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบพระราชทานอํานาจให้แก่พระเพทราชา ขุนพลแห่งสยาม พระปีย์ ราชโอรสบุญธรรมและออกญาฟอลคอน โดยให้พระราชธิดาทําความเข้าพระทัยและยอมรับกระบวนการใช้พระราชอํานาจของคณะบุคคลทั้งสาม ส่วนพระอนุชาทั้งสองพระองค์แม้ว่าตามกฎมณเฑียรบาลจะมีฐานะเป็นรัชทายาทเนื่องด้วยเป็นราชโอรสที่ชอบธรรมก็ถูกเจาะจงให้พ้นจากการสืบพระราชสมบัติได้อย่างแยบยลยิ่ง ดังจะเห็นได้จากเรื่องราวต่อไปนี้
การที่ไม่ได้รวมเชื้อพระราชวงศ์ซึ่งหมายถึงเจ้าชายที่ไม่ได้สืบราชสมบัตินั้น ทําให้ทั้งสองฝ่ายคิดจะแย่งชิงพระราชบัลลังก์มาเป็นของตนเองนั้นมีความยินดีและมีกําลังใจอย่างยิ่งเนื่องจากอาการพระประชวรของกษัตริย์ทรุดลงจนหมดความหวัง (หรือเนื่องด้วยเกรงว่าจะทรงฟื้นจากอาการพระประชวร) ทําให้แต่ละฝ่ายชักชวนพรรคพวกของตนเข้าพระราชสํานักและส่งกําลังทหารไปตามหมู่บ้านข้างเคียงและออกญาฟอลคอนผู้สําเร็จราชการแผ่นดิน
ซึ่งได้รับฉันทานุมัติของสภาบัญชาให้นายพลชาวฝรั่งเศสไปเมืองละโว้กับกําลังทหารส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อนายพลชาวฝรั่งเศสถึงกรุงสยามแล้ว ได้รับคําแนะนําจากสังฆราชชาวฝรั่งเศส จึงทําให้เขากลับไปบางกอกโดยอ้างเหตุผลต่อออกญาฟอลคอนว่ามีข่าวลือว่ากษัตริย์สิ้นพระชนม์ ทั้งสองฝ่ายในคณะสําเร็จราชการเห็นพ้องต้องกัน จัดให้มีทหารฝรั่งเศสจํานวนหนึ่งมาในราชสํานัก เพื่อต้องการให้ทหารฝรั่งเศสมาเสริมกําลังให้แก่ตน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้นต้องการแยกกองทหารฝรั่งเศสออกจากกัน เพื่อสะดวกแก่การทําลาย
ดังนั้น เมื่อมีการบัญชาครั้งที่สองนายพลจึงปฏิบัติตามแต่โดยเอาลูกชายคนโตมาเท่านั้น การมาในลักษณะนี้และมาช้ากว่าฝ่ายของพระปีย์จะช่วยได้ ทําให้ขัดขวางแผนการของทั้งสองฝ่าย ถึงตอนนี้ขุนพลสยามพระเพทราชาได้วางแผนการกําลังดําเนินไปด้วยดี ก็พร้อมที่จะเข้ายึดป้อมอีกครั้งหนึ่ง นายพลชาวฝรั่งเศสรอดพ้นจากการจับกุมไปได้ แต่บุตรทั้งสองคนถูกจับเป็นตัวประกัน อย่างไรก็ดี การเชื้อเชิญอันใดก็ไม่อาจลวงเขาให้ออกจากป้อมได้จนกว่าจะสามารถจัดการให้เขาออกจากราชอาณาจักรได้อย่างสมเกียรติ
ประมาณวันที่ 10 พฤษภาคม ขุนพลแห่งสยามพระเพทราชาได้บัญชาการ ให้สังหารพระปีย์ ราชโอรสบุญธรรมในพระราชวัง ด้วยการสับพระวรกาย ออกเป็นชิ้นๆ มีการพบกระดาษชิ้นหนึ่งในกองเอกสารของพระปีย์ ซึ่งในนั้น มีรายชื่อคณะผู้สําเร็จราชการและข้อความระบุว่าเมื่อกษัตริย์สวรรคตแล้ว ให้พระราชสมบัติตกอยู่กับพระปีย์พระราชโอรสบุญธรรม และมอบตําแหน่งสูงสุดให้ กับออกญาฟอลคอน และข้อแนะนําเกี่ยวกับการจัดสรรตําแหน่งหน้าที่ในราชการให้กับบุคคลต่างๆ พระเพทราชาผู้ซึ่งทําตัวเสมือนเป็นผู้นิยมชมชอบให้เชื้อพระราชวงศ์ได้เป็นผู้สืบราชสมบัติ
จึงมีเหตุผลพอเพียงที่จะพิสูจน์ว่ากลุ่มพระปีย์วางแผนกบฏ และได้เรียกตัวออกญาฟอลคอนเพื่อมาแก้ข้อกล่าวหา และเมื่อออกญาฟอลคอนเข้าประตูวังก็ถูกจับ แต่เนื่องจากเหตุผลบางประการจึงพ้นจากการถูกประหารชีวิตไปอย่างหวุดหวิด
จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม ในคืนนั้นในสภาพของนักโทษที่ถูกใส่โซ่ตรวนเยี่ยงนักโทษธรรมดา เขาก็ถูกนําไปประหารชีวิตนอกประตูพระนคร โดยคําบัญชาที่ลงพระนามโดยพระเพทราชา คําขอร้องที่จะพบกับบาทหลวงเพื่อจะ สารภาพบาปก่อนสิ้นชีวิตและคําขอร้องอย่างอื่นของเขาก็ถูกปฏิเสธ เขากล่าวเป็นภาษาสยาม (ยืนยันว่าการที่เขาต้องประสบเคราะห์กรรมเช่นนี้ก็เนื่องมาจากความจงรักภักดีที่เขามีต่อพระมหากษัตริย์แห่งสยาม) ว่าการที่เขาถูกประณามก็เป็นเพราะการอุทิศตนของเขา เขาถอดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งได้รับจากพระสันตะปาปา ภายในมีอัฐิของนักบุญชาวโรมันผู้มีชื่อ และแสดงความจํานงที่จะมอบให้แก่บาทหลวงชาวคริสต์องค์ใดองค์หนึ่ง แต่บังเอิญตกไปอยู่ในมือของ จอห์น สเปนซ์ (John Spence) ซึ่งเป็นชาว Devonionists (สันนิษฐานว่าหมายถึงชาว Devonshire ในประเทศอังกฤษ-ผู้แปล) พยายามจะซื้อต่อแต่ยังไม่เป็นผล ออกญาฟอลคอนถูกตัดหัวในท่ายืน และเมื่อร่างล้มลงกับพื้นก็ถูกตัดเป็นสองซีกและพร้อมกับศพของลูกชายจอฟัน (ซึ่งนอนอย่างสงบในโรงไม้ยงในโบสถ์มาประมาณสี่เดือนแล้วถูกฝังไว้ในหลุมใกล้กับสถานที่ประหารชีวิต และตั้งใจทิ้งไว้โดยไม่มีหลักฐานที่ปรากฏชัด
ส่วนชะตากรรมของภรรยาของเขานั้น เราไม่ทราบอะไรมากนัก นอกจากตัวเธอและครอบครัวทางบิดาของเธอถูกยึดทุกอย่างที่ค้นพบได้ โดยการค้นหาอย่างถี่ถ้วนประกอบกับการทรมานร่างกายเพื่อคําสารภาพ
ส่วนเจ้าฟ้าชายสองพระองค์นั้น ถูกกษัตริย์ซึ่งเป็นพระเชษฐาลงอาญาอย่างหนัก เนื่องจากมีรายงานว่าได้ข่มขู่ที่จะแก้แค้นต่อบรรดาข้าราชบริพารของพระองค์ เมื่อความทราบถึงกษัตริย์ พระองค์ทรงได้แต่ให้เลื่อนการประหารชีวิตไปจนกว่าเวลาที่พระองค์เองใกล้สวรรคต ซึ่งเมื่อสิ่งนั้นใกล้จะเกิดขึ้น พระเพทราชาจึงให้คืน วันที่ 25 มิถุนายน ได้สั่งการด้วยความจงรักภักดีให้สําเร็จโทษทั้งสองพระองค์ด้วยท่อนจันทร์ และในวันที่ 30 มิถุนายน กษัตริย์ก็เสด็จสวรรคต ประมาณคืนวันที่ 8 กรกฎาคม พระเพทราชาได้แย่งชิงราชสมบัติมาเป็นของตนเองและครอบครัว
เดชะบุญที่การผลัดราชสมบัติซึ่งลุล่วงไปได้ด้วยความปั่นป่วนวุ่นวายในราชสํานักได้เริ่มสงบลง และในที่สุดก็จบสิ้น ชาวสยามรวมตัวเป็นกองกําลังอาวุธ เพื่อเข้าชิงป้อมของฝ่ายตนคืน แต่ยังไม่ทันที่จะรับชัยชนะมีการทําข้อตกลงหย่าศึกกันก่อน ในระหว่างนั้นพวกฝรั่งเศสแต่งเรือใบเพื่อออกไปสํารวจสภาพการเดินเรือ เมื่อคาดการว่าจะมีลมมรสุมพัดเข้ามาจึงจอดเรือลอยอยู่ในแม่น้ํา ดังนั้นจึงถูกฝ่ายศัตรูบุกขึ้นยืดเรือมีรายงานไว้ว่าในการนั้นทหารคนหนึ่งระเบิดพวกศัตรูเสียชีวิตประมาณ 200 คน หลังจากสงบศึกแล้วมีการมอบเรือเสบียงและสิ่งของอื่นสําหรับการเดินทาง แต่สิ่งที่ได้มาด้วยความยากลํามากยิ่ง คือการอนุญาตให้ กัปตันวิลเลียมส์ กัปตันเอาเวลส์ และกะลาสีชาวอังกฤษจํานวนหนึ่งมาช่วยในการเดินเรือ
ประมาณวันที่ 25 กันยายน ภรรยาของฟอลคอนพร้อมด้วยบุตรชาย โดยความช่วยเหลือของพวกเยซุอิต ซึ่งอยู่ในคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของสามีเธอที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ได้หลบหนีไปบางกอก จึงทําให้กระบวนการทั้งหมดยุติ คงเหลือไว้แต่การตระเตรียมการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันต่อไป อย่างที่คาดไว้ นายพลชาวฝรั่งเศส และที่ปรึกษาการทหาร เมื่อเห็นว่าการที่ผู้สูงศักดิ์ทางฝ่ายตนจะเดินทางไปถึงจุดมุ่งหมายนั้น คงจะถูกขัดขวางและชาวคริสเตียนในพระราชอาณาจักรนั้นก็ถูกกดขี่ข่มเหงยิ่งขึ้น เพียงเพราะการอารักขาผู้ประสบเคราะห์กรรมและบุตรชายเอาไว้ จึงยอมตามเงื่อนไข จํานน หลังจากปรึกษากันเป็นเวลา 12 วัน ก็จบสิ้นลงไปตามนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม
ในวันที่ 23 ตุลาคม พวกฝรั่งเศสพร้อมด้วยตัวประกันชาวสยามสองคนขึ้นเรือ ปืนใหญ่จํานวน 30 กว่ากระบอก พร้อมทั้งทหารบนเรือเล็กจํานวนหนึ่ง เกิดพลัดหลงกับเรือใหญ่ในตอนกลางคืนจึงถูกสกัดจับ ด้วยเหตุนี้จึงมีการควบคุมตัวเป็นตัวประกันทั้งสองฝ่ายไว้ก่อน เว้นแต่หัวหน้าชาวฝรั่งเศสและลูกชายคนเล็กของนายพล ซึ่งเมื่อใกล้เรือใหญ่ก็ข่มขู่บังคับให้ทหารพิทักษ์พาขึ้นเรือใหญ่ ดังนั้นตัวประกันชาวฝรั่งเศสที่ยังเหลืออยู่จึงมีท่านสังฆราชแต่ผู้เดียว
หลังจากสามวัน ที่นายพลได้แจ้งแก่ชาวสยามว่าเขาจะอยู่ที่เกาะของชาวฮอลันตา (Dutch Hands) อีกหกวันเพื่อรอเรือเล็กที่ถูกสกัดจับแต่เมื่อถึงเวลานั้นก็ไม่มีคําตอบใด ๆ มา เขาจึงออกเรือในวันที่ 3 พฤศจิกายน
วันที่ 4 กรกฎาคม นายโจเซฟ แนสพูล ถูกจับใส่ตรวนและถูกกักขัง
ทั้งยังถูกทรมานร่างกายเพื่อที่จะรีดเอาคําสารภาพเกี่ยวกับทรัพย์สินของออกญาฟอลคอน ผู้ล่วงลับไปแล้ว นายออกจส์ ฟาน ผู้บัญชาการกองร้อย บังเอิญอยู่ที่เมืองละโว้ในตอนที่มีการปฏิวัติก็ถูกจับ ยึดทรัพย์ ใส่ต้องกลอง (gongoed) และถูกล่ามโซ่ตรวน เป็นเวลาหลายหลายคืนที่ the Lucornbands (เรือกําปั่น) จนสภาได้นําเอาสถานการณ์พิเศษของเขาขึ้นพิจารณา และยินดีปล่อยเขาเป็นอิสระ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม นายยอดจส์ผู้นี้ก็ดักชุมทําร้าย หม่อมปาน อดีตราชทูตประจําประเทศฝรั่งเศส ในวันแรกที่ท่านปรากฏตัวต่อสาธารณะในตําแหน่งพระคลัง ผู้ซึ่งมีความเห็นที่ชักนําให้เกิดเหตุเช่นนี้
สําหรับพวกท่านชาวอังกฤษ ข้าพเจ้าขอกล่าวโดยทั่วๆ ไปว่าประการแรกเกี่ยวกับเหตุการณ์ฝั่งตะนาวศรี พวกท่านผิดและพวกเราก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ผิด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้นไม่อาจเรียกกลับคืนได้
เมื่อหลายปีก่อนกษัตริย์ผู้สิ้นพระชนม์ไปนั้น ทรงโปรดปรานและมอบหน้าที่การงานสําคัญให้แก่ก็องสตังซ์ฟอลคอน ผู้ซึ่งต่อมาต้องรับโทษทัณท์ เนื่องจากความผิดอันใหญ่หลวงที่เขาก่อขึ้น แต่ในอนาคตพวกชาวอังกฤษต้องการที่ค้าขายกับเรา ตามประเพณีปฏิบัติและสิทธิต่างๆ ที่เคยได้รับก็เชิญได้
ตามข่าวที่ข้าพเจ้าได้ทราบมาก่อนที่ข้าพเจ้าออกจากสยามสองวัน บรรดาเพื่อนเราที่มะริดได้ถูกจัดการอย่างรุนแรงเชื่อได้ว่ารุนแรงอย่างผิดปกติ จนเป็นเหตุให้นายทรีเคอร์ส (Threders) ถึงแก่กรรม
เราคาดว่าจะติดตามข่าวสารเรื่องนี้ภายใน 8 หรือ 10 วัน ซึ่งหลังจากนั้นในระยะเวลาอันสมควร ข้าพเจ้าหวังว่าจะมีเกียรติได้พบท่านที่มัทราส พร้อมด้วยสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ตามสภาพการที่เอื้ออํานวยให้ท่านในขณะนี้
จากข้ารับใช้ผู้ต่ําต้อยของท่าน วิลเลียม โซเม (William Soame)
มะละกา 20 ธันวาคม 1688 จากนายโซเม่ ถึงเพื่อนคนหนึ่งในอินเดีย เกี่ยวกับเรื่องการปฏิวัติในประเทศสยาม
สำหรับงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2561 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2561 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมฟรี