ไม่พบผลการค้นหา
เป็นเวลากว่า 9 ปี ที่รถไฟฟ้า 'บีทีเอส' เป็นเส้นเลือดหลักการคมนาคมขนส่งทางรางของชาวกรุงเทพ ดังนั้น ในวันที่ 'ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง' จึงเกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ แต่บีทีเอสคือใคร และธุรกิจที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดระดับแสนล้านแห่งนี้ สะทกสะท้านสะเทือนไหม ในวันที่คนกรุงบ่นถึงกันระงม ติดตามจากรายงานพิเศษ

ต้นเดือน ก.ค. ที่่ผ่านมา เกิดความโกลาหลกับคนกรุงเมื่อระบบการขนส่งมวลชนหลักอย่างระบบรถไฟฟ้า BTS เกิดความขัดข้องทั้งช่วงเช้าและเย็น ทำให้การเดินรถเกิดความล่าช้า โดยปัญหาดังกล่าวมาจาก 'คลื่นแทรก' ในวิทยุสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับระบบอาณัติสัญญาณการเดินเครื่องรถไฟ ทำให้บีทีเอสต้องเร่งปรับระบบอาณัติสัญญาณใหม่ แต่ก็ยังไม่เสถียรมากนัก ทำให้การเดินรถเกิดปัญหาขัดข้องอย่างต่อเนื่องเกือบ 2 สัปดาห์ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของบีทีเอส ถึงขั้นกดดันเรียกร้องให้กรุงเทพมหานคร หรือ กทม. เจ้าของสัมปทานเดินรถ พิจารณายกเลิกสัมปทานดังกล่าว

ในอีกด้านหนึ่ง เกิดคำถามว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC จะได้รับผลกระทบอย่างไร เมื่อผู้ใช้บริการขาดความเชื่อมั่น 

เจาะอาณาจักรแสนล้าน 'บีทีเอส'

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานว่า บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ผู้ประกอบการธุรกิจรถไฟฟ้าบีทีเอส ปัจจุบันมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 1.06 แสนล้านบาท โดยบีทีเอส กรุ๊ป มีบริษัทลูกในตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัทที่เป็นที่รู้จัก อาทิ บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ถือหุ้นโดย BTS และผ่านบริษัทลูกรวมกัน สัดส่วนร้อยละ 63 ทำธุรกิจสื่อโฆษณาในรถไฟฟ้าและสื่อนอกบ้าน, บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 35.75 ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และให้บริการโรงแรมในไทยและยุโรป รวมถึงการถือหน่วยลงทุน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือสัปทานรถไฟฟ้า สายสุขุมวิท ระยะทาง 17 กิโลเมตรจากสถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช และสายสีลม ระยะทาง 6.5 กิโลเมตรจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติถึงสถานีสะพานตากสิน โดยสัญญาสัมปทานนับจากวันที่ทำการซื้อขายเสร็จสิ้นจนถึงวันสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทาน คือวันที่ 4 ธ.ค.2572 ซึ่งสัญญาสัมปทานดังกล่าวมีอายุสัมปทาน 30 ปี ในสัดส่วน ร้อยละ 33.33 

ปี 2561 กำไรพุ่งเท่าตัว

ในส่วนผลการดำเนินงาน บริษัทมีรายได้ปี 2561 (ปิดปีบัญชีสิ้นเดือน มี.ค.ของทุกปี) จำนวน 17,448.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 10,405.77 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,415.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,003.48 ล้านบาท โดยที่มาของรายได้ในปีที่ผ่านมา มาจาก กำไรจากการแลกหุ้นร้อยละ 31.60 รายได้จากการโฆษณาและการให้เช่าพื้นที่ร้อยละ 18.90 รายได้จากการเดินรถร้อยละ 14.50

ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF ร้อยละ 7.70 แม้การเดินรถจะเป็นรายได้หลักของบริษัท แต่ก็มีรายได้อื่นๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตและสร้างเสถียรภาพในระยะยาว

กสทช.-สัญญาณ-คลื่น- บีทีเอส

บีทีเอสเร่งเยียวยา หมดเขต 31 ก.ค. นี้

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทย่อยของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวว่าบริษัทได้ออกมาตรการคืนเงินค่าโดยสารให้กับผู้ใช้บริการกรณีเกิดความล่าช้าเมื่อวันที่ 25 -27 มิ.ย. 2561 โดยผู้ใช้บัตรโดยสารประเภทตั๋วเที่ยวเดียวสามารถนำกลับมาใช้ได้ภายใน 14 วัน หากกรณีไม่ต้องการเดินทางสามารถขอคืนเงินได้ภายในวันที่ 31 ก.ค. 61

ส่วนบัตรโดยสารประเภทเติมเงิน (Rabbit Card) ผู้ใช้บัตรในช่วงที่มีความล่าช้าสามารถขอรับเที่ยวเดินทางพิเศษ จำนวน 3 เที่ยว และสำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดินทาง 30 วัน สำหรับบุคคลทั่วไป หรือนักเรียน นักศึกษา (30-day Pass) ที่มีเที่ยวเดินทางคงเหลือในช่วงที่เกิดความล่าช้า สามารถมาขอรับเที่ยวเดินทางพิเศษ จำนวน 6 เที่ยว 

โดยผู้โดยสารสามารถนำบัตรโดยสารมาติดต่อขอรับการเติมเที่ยวเดินทางพิเศษได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร สถานีบีทีเอสทุกสถานี ตั้งแต่วันที่ 7 - 31 ก.ค. 61 และสามารถใช้เดินทางได้ภายใน 45 วัน นับจากวันที่มาเติมเที่ยวพิเศษ และจะมีอายุการใช้งานอีก 30 วัน นับจากการใช้เที่ยวพิเศษเดินทางครั้งแรก

ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่ามีผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากการเดินรถล่าช้าระหว่างวันที่ 25-27 ม.ย. 2561 ราว 1 แสนราย ซึ่งคาดว่าจะใช้เม็ดเงินในการเยียวยาผู้ใช้บริการราว 20 - 30 ล้านบาท

รถไฟฟ้าบีทีเอส-BTSรถไฟฟ้าบีทีเอส-BTS

อาณัติสัญญาณขัดข้อง กระทบกำไรบีทีเอสร้อยละ 1.6

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมขยายขบวนรถอีก 46 ขบวน ซึ่งคาดว่าจะทยอยเพิ่มและให้บริการได้ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. 2561 เป็นต้นไป โดยการเพิ่มขบวนรถดังกล่าวจะใช้ในเส้นทางการเดินและส่วนต่อขยายที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งบริษัทประเมินว่าสามารถบรรจุผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 สำหรับงบลงทุนคาดว่าจะใช้ราว 1.1 หมื่นล้านบาท แหล่งทุนจะมาจากกระแสเงินภายในบริษัทและเครื่องมือทางการเงินที่บริษัทออกไว้ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ ประเทศไทย ประเมินผลกระทบของการให้บริการเดินรถที่มีปัญหาว่า ในเบื้องต้น ผลกระทบที่หนักที่สุดคือ รายได้ของธุรกิจรถไฟฟ้าที่ลดลงไป 174.2 ล้านบาท โดยอาศัยสมมติฐานว่าจำนวนผู้โดยสารลดลงร้อยละ 50 จากช่วงปกติจำนวน 6 วัน (24-29 มิ.ย. 2561) และค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่เที่ยวละ 29 บาท ซึ่งคาดการณ์ว่า จะส่งผลกระทบกับกำไรสุทธิของบีทีเอส ในปี 2562 ประมาณร้อยละ 1.6

แม้ว่าการเดินรถจะมีปัญหาไปบ้าง แต่ภาพธุรกิจโดยรวมดูแข็งแกร่งขึ้น ในผลการดำเนินงานปี 2562 (เม.ย. 2561-มี.ค. 2562) บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารในโครงข่ายหลักอีกร้อยละ 4-5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และตั้งเป้าจะขึ้นค่าโดยสารเฉลี่ยอีกร้อยละ 1.5-2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ รายได้จากบริการการซ่อมบำรุง รถไฟฟ้าก็คาดว่าจะโตถึงร้อยละ 30 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ การสำรองสำหรับซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ของบริษัท และรายได้จากการจัดซื้อขบวนรถไฟสำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียวส่วนใต้และเหนือก็คาดว่าจะอยู่ที่ 7,000-9,000 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการก่อสร้างสายสีชมพูและเหลืองก็คาดว่าจะอยู่ที่ 20,000-25,000 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีรายได้ดอกเบี้ยที่เกิดจากการจัดหาขบวนรถของส่วนต่อขยายสายสีเขียวและรายได้ค่าก่อสร้างสายสีชมพูและเหลืองอีก 600-700 ล้านบาทด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังคงประมาณการกำไรสุทธิงวดบัญชีปี 2562 และปี 2563 ไว้ที่ 2,720 ล้านบาท และ 3,990 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงพัฒนาการด้านบวกในทุกๆ ธุรกิจของบริษัท (ที่สำคัญคือธุรกิจรถไฟฟ้า, สื่อ และ อสังหาริมทรัพย์) และรายได้จากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง

อ่านเพิ่มเติม: