ไม่พบผลการค้นหา
องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันพบไวรัสอีโบล่าแพร่ระบาดรอบใหม่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย คือ พยาบาลที่รักษาผู้ติดเชื้อไวรัส คาดสถิติผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นอีก ส่วนไทยยืนยันมาตรการป้องกันมีความเข้มข้น-ต่อเนื่องอยู่แล้ว

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างอิงคำแถลงของ นพ.โอลี อิลังกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของดีอาร์คองโกในทวีปแอฟริกา ยืนยันว่าพบการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในจังหวัดบิโคโร ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยพบผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 27 ราย

เจ้าหน้าที่รัฐบาลดีอาร์คองโกยืนยันว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้ว 1 รายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเพราะติดเชื้อไวรัสอีโบล่า ทำให้มีการกักตัวผู้มีอาการไข้เลือดออกทั้งหมดเพื่อตรวจสอบว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสอีโบล่าหรือไม่ แต่ขณะนี้ได้มีการติดตามผู้ที่ใกล้ชิดหรือเคยสัมผัสกับผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกทั้งหมด เพื่อกักบริเวณไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในกรณีที่เป็นการติดเชื้อไวรัสอีโบล่าจริง

ขณะที่เว็บไซต์ดอยเชอเวลเลอร์รายงานว่าผู้เสียชีวิตจากอีโบล่าที่แพร่ระบาดในดีอาร์คองโกรอบใหม่ คือ พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ทั้งยังมีพยาบาลอีก 3 รายถูกกักตัวที่สถาบันวิจัยและป้องกันโรคติดต่อเพื่อรอดูอาการเพิ่มเติม

ดอยเชอร์เวลเลอร์รายงานว่ารัฐบาลดีอาร์คองโกอนุญาตให้หน่วยงานทางการแพทย์ใช้วัคซีนป้องกันไวรัสอีโบล่าที่ยังอยู่ในขั้นทดลองและพัฒนา ก่อนสรุปผลว่าสามารถใช้งานได้จริงโดยไม่มีผลข้างเคียงจริงหรือไม่ แต่การป้องกันและให้ความรู้ประชาชนเรื่องการปฏิบัติตัวเมื่อต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสอีโบล่ายังไม่ทั่วถึง และประชาชนจำนวนมากยังสัมผัสกับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกโดยไม่ป้องกัน ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปได้ยาก

ย้ำมาตรการเฝ้าระวังอีโบล่าของไทย 'เข้มข้น-ต่อเนื่อง'

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่ากรมควบคุมโรค ได้ติดตามสถานการณ์ไข้เลือดอีโบล่าอย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขระหว่างประเทศ และยังไม่ได้ประกาศห้ามการเดินทางไปยังประเทศที่พบการระบาด

เซลล์ ร่างกาย

สำหรับประเทศไทย ยังคงดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาตามระบบที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ 1.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 2.โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน และ 3.ในระดับชุมชน โดยเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดในทุกๆ ช่องทางเข้า-ออก ทั้งที่ด่านสนามบิน ด่านท่าเรือ และด่านชายแดน และติดตามอาการจนครบ 21 วันตามมาตรฐานที่กำหนด หากมีไข้จะรับเข้าดูแลในโรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด เพื่อให้การรักษาตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และจะติดตามอาการผู้สัมผัสทุกคน

ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นโรคที่ต้องรายงานเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หากหลีกเลี่ยงไม่รายงานจะมีโทษตามกฎหมาย คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป มีดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้ามาโดยไม่ผ่านการตรวจโรคทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย 2.หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร

เปิดเบอร์สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้มีการเตรียมพร้อมที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันจะไม่พบผู้เดินทางติดเชื้อเข้ามาในประเทศไทย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากดีอาร์คองโกทุกราย จะต้องมารายงานตัวและตรวจวัดไข้ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนอนุญาตให้เข้าประเทศ หากพบผู้ที่สงสัยก็จะมีระบบรองรับทั้งการตรวจ การกักตัวเพื่อรักษา รวมทั้งการสอบสวนควบคุมโรค ต่อไป ประชาชนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ขณะที่เว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขของไทย เผยแพร่ข้อมูลโรคไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสอีโบล่า โดยระบุว่าเป็นโรคเฉียบพลันรุนแรงจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียมาก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย พบผื่นผิวหนังกระจายทั่วตัว โดยในบางรายพบการตกเลือดทั้งภายในและภายนอก ไตและตับทำงานบกพร่อง หากตรวจเลือดจะพบว่าปริมาณเม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดต่ำ ขณะที่ระดับเอนไซม์ตับจะสูงกว่าปกติ

ไวรัสอีโบล่าเป็นโรคติดต่อผ่านเลือดหรือการสัมผัสกับสิ่งคัดหลังของผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงอสุจิ และมีระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่ 2-21 วัน ทั้งยังมีอัตราผู้เสียชีวิตหลังจากติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 90 จึงถือเป็นโรคติดต่อที่ค่อนข้างร้ายแรง โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยเป็นกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ เด็ก และผู้สูงวัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: