ยังไม่สายใช่ไหมที่จะเขียนเรื่อง “ถูกหวยรับประทาน”.......
ฉันเชื่อว่ายังไม่สายเกินไปหรอก เพราะแผลแห่งความสูญเสียยังคงเป็นสะเก็ดในใจ สะกิดเมื่อไหร่ก็เลือดซึมเมื่อนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นช่วงหลังวันหวยออกเพียงไม่กี่วัน ท่ามกลางสถานการณ์ข่าวฮอตๆ เรื่องหวย 30 ล้านเป็นของใคร ขึ้นฟีดข่าวรัวๆ ทั้งวัน รู้หรือไม่ว่ามันจี๊ดในใจคนที่ไม่เคยแม้แต่จะเฉียดเลขท้าย 2 ตัว!!
การเล่นหวยและถูกหวย เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ฉันไม่เคยย่างก้าวเข้าไปในอาณาจักรนั้นได้ และออกจะทึ่งอยู่มากๆ เมื่อคนที่ฉันรู้จักสามารถตีเลขได้จากทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาในวินาทีชีวิต ตั้งแต่อ่านข่าวงูจงอางเข้าบ้าน เลขโต๊ะร้านก๋วยเตี๋ยวตอนกินข้าวกลางวัน ไปจนถึงเลขท้ายตั๋วรถเมล์ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเราไม่ได้เพิ่งหมกมุ่นกับหวย เพราะเรามีหวย ก ข กันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ก่อนพัฒนาการมาเป็นสลากกินแบ่งแบบปัจจุบัน
กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยสั่งให้ 'หลวงศิริสมบัติ' เรียบเรียงเรื่อง 'หวย' เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ ทำให้ทราบว่าเดิมคนคิดหวยนั้นเป็นชาวจีนชื่อ 'จีนหง' ผูกขาดอากรหวยในตำแหน่ง 'ขุนบาล' และไต่ถึงบรรดาศักดิ์ที่ 'พระยา' รวยระดับเจ้าสัวในกาลต่อมา จากเอกสารชิ้นนี้เองทำให้เราเห็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของ 'หวย' นั่นก็คือ 'การตีหวย' โดยอาศัยเครื่องมือเสี่ยงทายต่างๆ
น่าสนุกดีที่จะได้รวบรวมวิธีการหาเลขเด็ดของคนสมัยก่อนในบทความนี้....
ขนาด 'คุกกี้เสี่ยงทาย' ฝรั่งยังเคยเอาไปซื้อ U.S. Powerball Lottery งวดประจำวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2005 จนถูกหวยรวยเบอร์ไปกว่าร้อยคน ฉะนั้น จึงไม่แปลกนักที่ดินแดนแห่งความเชื่อไม่เคยเหือดแห้งอย่างบ้านเรา จะมีร้อยแปดพันวิธี (เวอร์มาก) ในการล่วงรู้ซ���่งความลับของตัวเลข หนึ่งในนั้นก็คือการตีความจาก 'ฝัน' วิธีเบสิกที่ทุกวันนี้ก็ยังใช้กันอยู่
ในหนังสือวชิรญาณวิเศษมีกิจกรรมสนุกๆ อยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือการให้สมาชิกร่วมกัน 'แก้ศัพท์' หรือให้คำจำกัดความของคำๆ หนึ่ง ตามแต่ที่กรรมสัมปาทิกจะกำหนด กิจกรรมนี้เรียกว่า 'แก้ศัพทวินิจฉัย' ใครแก้คำได้ดีที่สุดก็จะได้รับรางวัล อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงคำที่ 19 มีการให้แก้ศัพท์คำว่า 'ฝัน' ปรากฏมีผู้ส่งข้อความมาถึง 45 บท โดยหนึ่งในนั้นแก้คำว่าฝันว่า “เปนแม่เหล็กของเจ๊สัว สำหรับดูดให้คนบางพวกเล่นหวย” อ่านแล้วฮาตึงเลยทีเดียว
ขณะที่วรรณกรรมยุคหลังอย่าง 'สี่แผ่นดิน' ก็เขียนถึงการตีหวยจากฝันเหมือนกัน อันนี้ละเอียดหน่อยเพราะเห็นถึงวิธีการตีฝัน โดยในวรรณกรรมเล่าว่า 'นางพิศ' บ่าวของแม่พลอย ฝันเห็นนกกระยางฝูงใหญ่ กลับเลือกแทง 'ป.กังสือ' เพราะตีว่านกกระเรียนกินปลานั่นเอง
ตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณในทุกอาณาจักร ทั้งสุโขทัย ล้านนา อยุธยา ฯลฯ ในประวัติศาสตร์ล้วนมี 'ผู้วิเศษ' เป็นส่วนหนึ่ง บ้างทำหน้าที่ที่ปรึกษายามรบทัพจับศึก บ้างก็เป็นกบฏเสียเอง เรียกว่าทำงานช้างๆ ระดับบ้านระดับเมือง แต่เมื่อถึงยุครัชกาลที่ 5 ที่เริ่มมีเอกสารบันทึกสภาพสังคมมากขึ้น เราเริ่มเห็นผู้วิเศษที่เริ่มเซอร์วิสผู้คนรากหญ้า นั่นก็คือ ผู้วิเศษในทางใบ้หวย โดยเอกสารวชิรญาณวิเศษนี่แหละที่บันทึกข้อความบางอย่างที่ทำให้เราพอนึกภาพตามได้ เช่น ในหัวข้อ 'ปัญหาธรรมวินิจฉัยที่ 48' พูดถึง “ผู้ที่ชอบเล่นหวยหยากได้หวยที่แม่นเล่น หรือหยากเป็นหมอดูอย่างวิเศษ” ขณะที่หัวข้อ “อธิบายในคำศิษย์แลอาจาริย์ บทที่ 1 ว่าด้วยศิษย์” ได้บันทึกไว้ถึง 'อาจารย์เมือง' และ 'อาจารย์แก่น' ผู้ใบ้หวย ว่าสมควรหรือไม่ที่จะได้ใช้คำนำหน้าว่า 'อาจาริย์'
“....ท่านผู้มีความเอื้อเฟื้อ ประศงค์เอาคุณวิเศษที่ท่านหมั่นตักเตือนสั่งสอนเราให้ได้รู้วิชามีเครื่องหมายคือ หนังสือ เปนต้น ท่านผู้มีความเอื้อเฟื้อ ในการสั่งสอนศิษย์ให้รู้วิชาจริงๆ จึ่งมีนามว่าอาจาริย์ได้ ซึ่งจะหมายเรียกคนชนิดอื่นว่าอาจาริย์ดังคนเป็นอันมากเรียกผู้ให้หวยหรือหมอน้ำมนต์ว่าอาจาริย์ เช่น อาจาริย์เมือง อาจาริย์แก่น เปนต้นไม่ได้ เพราะท่านเหล่านั้นไม่ได้สั่งสอนผู้หนึ่งผู้ใดให้รู้วิชาหนังสือเปนต้น หรือจะหมายเอาเหตุที่ได้สั่งสอนศิษย์ให้รู้ทางหวยต่อๆ กันมา เมื่อเปนเช่นนั้นก็ควรเรียกว่าอาจาริย์ได้....”
ยกตัวอย่างมาพอหอมปากหอมคอ ทำให้เห็นว่าเราแทบไม่ต่างจากในอดีต ฝันเราก็ตีหวย อาจารย์ไหนดังเราก็ขอหวย
แต่สำหรับฉันแล้วทั้งหมดก็เป็นเพราะรัฐนั่นเองที่หยิบยื่นการเสี่ยงโชคนี้มาให้เรา และดูทรงแล้วการเสี่ยงโชคแบบหนึ่งในแสน ก็ยังน่าลุ้นกว่าการหวังชีวิตที่ดีขึ้นจากรัฐบาลเป็นไหนๆ
นั่นเองที่ทำให้เรื่องการเสี่ยงทายใบ้หวย กลายเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในรากแห่งความเป็นชาวเรา.... ชาวแดนศิวิไลซ์ที่ดูไลฟ์พระจันทร์สีเลือดแล้ว Comment ว่าสาธุๆ ขอให้ลูกร่ำรวย ฯลฯ