ข่าวเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกที่แขวงอัดตะปือในสปป.ลาว ทำให้กำลังใจและความช่วยเหลือระดมมุ่งไปยังพี่น้องชาวลาวอย่างล้นหลาม แต่ในระหว่างนี้ ร่องความกดอากาศต่ำเดียวกันซึ่งก่อให้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ก็ทำให้เกิดภาวะน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม ถนนทรุด และกระแสน้ำพัดท่วมหลายจังหวัดในเขตภาคเหนือและภาคอีสานรวมถึงน้ำล้นตลิ่งในแม่น้ำสายสำคัญ ทั้งโขง ชี มูล สร้างความเสียหายให้บ้านเรือนและไร่นาประชาชนอย่างมาก
ปัญหาน้ำท่วมรวมถึงน้ำแล้ง เป็นปัญหาซ้ำซากที่อยู่ในหน้าข่าวมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย จากสถิติพื้นที่เกษตรกรรมไทยปี 2558 พบว่ามีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่อยู่ในระบบชลประทาน อีกร้อยละ 4 เป็นพื้นที่รับประโยชน์จากระบบชลประทาน และกว่าร้อยละ 87 เป็นพื้นที่นอกเขต ไม่มีการชลประทาน
การขาดแคลนระบบชลประทานนั้น ไม่ได้หมายถึงไม่มีน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อการเกษตรเท่านั้น แต่ยังหมายถึงไม่มีการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เมื่อน้ำมากก็หลากท่วม เมื่อน้ำน้อยก็แห้งแล้ง ต้องพลอยพึ่งฟ้าพึ่งฝนพึ่งเทวดา ไม่สามารถคาดเดาอนาคตของการปลูกพืชผลทางการเกษตรได้เลย
ที่ผ่านมาโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ มักจะวางแผนมาจากกรมชลประทานส่วนกลาง โดยขีดเส้นพื้นที่เพื่อสร้างโครงการต่างๆ ตามใจชอบ ทำให้เกิดการเวนคืนและทำลายสภาพแวดล้อมวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เช่น กรณีเขื่อนปากมูล เป็นต้น แต่โครงการที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มักจะเป็นการสร้างฝายหรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็กใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ โดยไม่มีการประสานข้อมูลทางธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา และอุทกศาสตร์ เพื่อให้เกิดการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นสอดคล้องกันในพื้นที่ใกล้เคียง
สำคัญที่สุดคือ ต้องการเจ้าภาพคอยรับผิดชอบจัดการข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ รวมถึงน้ำในเขื่อน สามารถสั่งการ แจ้งข่าว ออกแถลงเตือนได้อย่างทันท่วงที มิใช่น้ำในเขื่อนเป็นเรื่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตบ้าง เป็นของกรมชลประทานบ้าง เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไป พอรู้ตัวเขื่อนก็ล้น น้ำก็ท่วมเสียแล้ว
แผนการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมระยะยาว จึงต้องร่วมมือกันทั้งหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง โดยมีหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์และวางแผน ใช้งบประมาณจากทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น หาโครงสร้างของแผนงานที่ตอบสนองชีวิตของคนในพื้นที่ รับผิดชอบร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยมีเสียงคัดค้านน้อยที่สุด
หากจำเป็นต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ก็ต้องทำความเข้าใจให้ผู้คนพื้นที่รับน้ำ พื้นที่ได้รับผลกระทบ พื้นที่ที่ได้ประโยชน์ ลงมติเห็นร่วมกันและชดเชยความเสียหายให้เหมาะสม ไม่ใช่เพียงการไปขีดเส้น ทำประชาพิจารณ์จอมปลอม หรือกีดขวางการมีส่วนร่วมจนเป็นโอกาสให้เกิดการปลุกปั่นรุนแรง แต่หากไม่จำเป็น ก็สามารถใช้วิธีต่างๆ ที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วยเหลือและก่อสร้างบรรเทาปัญหาตามลักษณะของแต่ละพื้นที่
การจัดการน้ำอย่างเป็นระบบนี้ ยังจะส่งผลไปถึงการแก้ไขปัญหาพืชผลเกษตร การจัดโซนนิ่งแหล่งปลูกพืช เพราะเมื่อมีน้ำเพียงพอ สามารถคาดเดาอนาคตได้ เกษตรกรก็จะปลูกพืชได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่พืชไร่อายุสั้นที่ขายได้ราคาต่ำและเหวี่ยงแปรผันตามตลาดโลก แต่เป็นพืชสวนและพืชราคาสูงที่ใช้น้ำมาก รวมถึงแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรในบางส่วน เพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติจะไม่กระทบต่อผลผลิตของผู้ประกอบอาชีพมากเท่ากับตอนที่ยังไม่มีชลประทาน
นอกจากการประสานงานภายในระหว่างหน่วยงานของไทยแล้ว จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำนานาชาติเช่นจังหวัดริมแม่น้ำโขงทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ยังจำเป็นต้องติดต่อรับข้อมูลจากทั้ง จีนและลาวอย่างทันท่วงที เพื่อให้สามารถรับมือและจัดการเตือนภัยในกรณีมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนในสองประเทศดังกล่าวเข้าสู่แม่น้ำโขง เพราะหากแม่น้ำโขงล้นฝั่ง ลำน้ำสาขาที่ระบายน้ำลงแม่น้ำโขงก็จะทยอยล้นท่วมย้อนเข้ามาในแผ่นดินและพื้นที่ใกล้เคียงตามไปด้วย
สุดท้ายแล้ว ถึงแม้ว่าระบบการจัดการน้ำจะวางไว้ดีเพียงใด แต่หากธรรมชาติแปรปรวนรุนแรงก็คงหนีไม่พ้นต้องได้รับความเสียหาย
อยู่ที่ว่ามนุษย์จะสามารถวางแผนระยะยาวบรรเทาความเสียหายนั้นให้ลดลง และฟื้นฟูสภาพบ้านเมือง การเกษตร และชีวิตจิตใจของผู้ประสบภัยนั้นให้กลับคืนมาดีเหมือนเดิม