ไม่พบผลการค้นหา
ครม. เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญา แก้ปัญหาคนล้นคุก จากเดิมโทษจำคุก 5 ปีขึ้นต้องวางหลักทรัพย์ถึงได้ปล่อยตัวชั่วคราว เป็นโทษจำคุก 10 ปีขึ้นไปให้วางหลักทรัพย์ปล่อยตัว

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา ในเรื่องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติม โดยสำนักงานศาลยุติธรรม เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้จะตอบสนองนโยบายนายกรัฐมนตรี โดยมีหลักการเพิ่มเติมในเรื่องที่นายกรัฐมนตรีเคยให้นโยบายว่าสังคมไทยชอบให้ข้อมูลในทำนองตัดพ้อว่า คนจนติดคุกแต่คนรวยรอด รวมทั้งการให้ศาลมีอำนาจในการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้จับผู้หนีประกัน แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ว่างก็จะมีตำรวจศาลให้ดำเนินการได้เอง

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า จากเดิมตัวกฎหมายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวกำหนดไว้ว่า หากผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไป ถ้าจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องวางหลักประกัน จะทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งที่เดือดร้อนเรื่องเงินประกันต้องอยู่ในคุก ทำให้เกิดปัญหาจำนวนพื้นที่ในการคุมขังที่มีน้อย และเกิดการล้นคุกโดยไม่จำเป็น ทำให้วันนี้มีการขยายเพดานขึ้นไปว่าถ้าจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในประเภทที่ต้องวางเงินประกันก็ต้องมีโทษจำคุก 10 ปีขึ้นไป ดังนั้น ผู้ที่มีโทษ 5 - 9 ปีนั้นจะต้องมีพันธะประเภทอื่นกับศาล เช่น จะต้องมารายงานตัว แต่ไม่ต้องวางเงินประกัน 

ส่วนกรณีที่ขอให้ศาลมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานศาลทำหน้าที่แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครองให้จับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่หลบหนีคดีโดยหลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล เรื่องดังกล่าวคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วไม่ได้เห็นชอบ

โดยร่างกฎหมายดังกล่าว คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ก่อนเสนอ สนช. ต่อไป 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง