ไม่พบผลการค้นหา
อุตสาหกรรมทีวีกำลังเปลี่ยนไป จากการเผชิญวิกฤตที่คนดูลดลง ทำให้สื่อในยุคดิจิทัลต้องปรับตัว เมื่อ 'ช่องทางเดิม' กำลังจะแพ้ให้กับ 'โลกออนไลน์'

งาน NextM 2018 ที่จัดโดยบริษัทดับบลิวพีพี (ประเทศไทย) จำกัด – กรุ๊ปเอ็ม พร้อมด้วยบริษัทในเครือ Mindshare, Mediacom, Maxus, Mediaedge:cia และ mInteraction เป็นการรวบรวม ผู้ประกอบการดิจิทัลทีวี 18 ช่อง, ทีวีโปรดักชั่น มาออกบูธ  เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการดิจิทัลทีวี ได้พบปะลูกค้าของทุกบริษัทในเครือ group M ทั้ง 5 บริษัท (ซึ่งถืองบประมาณร้อยละ 60 ของงบสื่อทีวีทั้งอุตสาหกรรม)

_H2A4015.JPG

งานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 - 28 พฤศจิกายน เวลา 10.00 - 18.00น. สถานที่ เมืองไทย จีเอ็มเอ็ม ไลฟ์เฮ้าส์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด

วิกฤต 'สื่อใหม่'

ปัจจุบันอุตสาหกรรมสื่อกำลังเผชิญหน้ากับการถูกทำลายด้วยนวัตกรรมใหม่หรือที่เรียกว่า Media Disruption ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ส่งผลให้สื่อต่างๆ ต้องปรับตัวกันถ้วนหน้า 

เทคโนโลยีที่เป็นตัวกลางสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงเครือข่ายและข้อมูลต่างๆเข้าด้วยกัน นวัตกรรมตัวนี้ก่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อรูปแบบของสื่อ ทั้งขั้นตอนการผลิต การเผยแพร่ผลงาน และวิธีการบริโภค

ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมทีวีเผชิญวิกฤตคนดูลดลงเนื่องจากรูปแบบการรับชมของผู้คนเปลี่ยนไป จึงเป็นที่มาให้ทีวีหลายช่องหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก หรือยูทูบ เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนที่หันไปบริโภคสื่อจากช่องทางนั้น 

ตามข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT คาดว่า ยอดเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล ปี 2561 ทั้งปีจะโตที่ร้อยละ 21 คิดเป็นเงินเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยส่วนแบ่งตลาดโฆษณาออนไลน์หลักตกเป็นของเฟซบุ๊ก มีเม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่ 4,479 ล้านบาท ตามมาด้วยยูทูบที่ 2,690 ล้านบาท

การผสมผสานของ 'ออฟไลน์' และ 'ออนไลน์'


p1.PNG

(ณิจยา เตวุฒิชนกุล, ขวา / ดิลกา คุณดิลก, ซ้าย)

ณิจยา เตวุฒิชนกุล นักกลยุทธ์วางแผนการตลาดอาวุโส และ ดิลกา คุณดิลก ผู้บริหารงานลูกค้าอาวุโส สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า ช่องสามมีผู้บริโภคออฟไลน์อยู่ในมืออย่างเหนียวแน่นเป็นทุนเดิม การเพิ่มช่องทางออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือแอปเมลโล่ เป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ชมสามารถรับชมได้สะดวกขึ้น แม้อัตราการเติบโตของยอดคนดูในเมลโล่จะสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงยอดที่ทีมบริหารตั้งเป้าไว้ ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาและการประชาสัมพันธ์เพิ่มเนื่อจากยังเป็นแอปที่ใหม่อยู่ อย่างไรก็ตามช่อง 3 ก็ให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์

"จริงๆแล้วก็เริ่มแล้วในการที่เราขาย ออฟไลน์ และก็ออนไลน์ ควบไปด้วยกัน เพื่อเป็นการพัฒนา ให้มันอยู่รอดกันทั้งสองแพลตฟอร์ม" ดิลกา กล่าว


p3.PNG

ด้านวราวุธ เจนธนากุล ประธานบริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการเกมโชว์ชี้ว่าการเติบโตของช่องทางออนไลน์นั้นแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นการทำลายและทำร้ายสื่อแต่อย่างใด แต่เป็นการเพิ่มตัวเลือกให้กับผู้บริโภค โดยมองว่าเทคโนโลยีต่างๆที่เข้ามานั้นเป็นการพัฒนาให้วงการสื่อเดินไปข้างหน้า

"ในยุค disruptive แบบนี้ มันต้องหาวิธีอยู่ร่วมกัน ระหว่างคอนเทนต์ที่มันเคยอยู่ในออฟไลน์ ก็คือทีวีธรรมดา การจะไปอยู่ในออนไลน์ ให้มันมีประสิทธิภาพ มันต้องอาศัยการผสมผสาน" วรวุธ กล่าว


p2.PNG

ปิดท้ายด้วยจารุสรณ์ สุจินตานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจนานาชาติ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับกันตนาซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการป้อนทีวีต่างๆ มองว่าช่องทางออนไลน์เป็นตัวช่วยให้คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศสามารถรับชมรายการต่างๆในประเทศไทยได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นเพิ่มยอดการรับชมจากที่เมื่อก่อนการรับชมรายการที่ฉายในช่องทีวีประเทศไทยเป็นเรื่องยากสำหรับคนอยู่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ

"คนไทยเองก็อยู่ทั่วโลก ตอนนี้เองก็เป็นช่องทางที่ดีทำให้ คอนเทนต์ไทยไปต่างประเทศมากขึ้น สู่คนไทยและสู่ต่างชาติ เขาจะได้ดูคอนเทนต์ไทยมากขึ้น ซึ่งก็คือจุดประสงค์ของเรา" จารุสรณ์ กล่าว

ชัดเจนว่าสื่อทุกแห่งตระหนักถึงพายุการเปลี่ยนผ่านจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ทั้งหมดแล้ว

ไม่ว่าสื่อแต่ละแห่งจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งในด้านตัวเลขที่เรตติ้งทีวีที่ลดลงและการต่อสู้ในโลกออนไลน์เพื่อแย่งชิงยอดการมีส่วนร่วมในช่องทางต่างๆ

การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นเพียงอีกครั้งหนึ่งที่จะพิสูจน์ว่าสื่อไม่ได้ตายลงแค่รูปแบบต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ทันยุคทันสมัย เช่นเดียวกับที่สมัยที่โทรทัศน์เข้ามาและผู้คนคิดว่าวิทยุจะตาย แต่วิทยุก็ยังอยู่ได้เพราะมีรูปแบบที่ชัดเจนของมัน