ไม่พบผลการค้นหา
บุคลากรการแพทย์ไทยอาจเข้าสู่ภาวะหมดไฟ นอกเหนือจากความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เพราะต้องทำงานหนักแข่งกับเวลา แต่ไร้อุปกรณ์ป้องกันที่เพียงพอ ส่วนผู้เรียกร้องให้ตรวจสอบความผิดปกติในระบบรัฐกลับถูกฟ้อง-ดำเนินคดี

สุณัย ผาสุข นักวิจัยที่ปรึกษา 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' หรือ HRW องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ประจำประเทศไทย เผยแพร่แถลงการณ์ Protect Medical Workers in Thailand from Covid-19 เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์จากโรคโควิด-19 เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์ พยาบาล อย่างน้อย 102 รายทั่วประเทศ เป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ช่วง 'ล็อกดาวน์' 

รัฐบาลไทยจะต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันด้านสาธารณสุขอย่างเพียงพอให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ต่างๆ เพราะที่ผ่านมา ประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์เหล่านี้ จนบุคลากรต้องนำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ มาดัดแปลงเพื่อใช้งานกันไปก่อน โดยเฉพาะชุดป้องกัน PPE (Personal Protective Equipment ) ไม่ถูกจัดสรรปันส่วนกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ได้อย่างทันเวลา 

ปัญหาขาดแคลนชุด PPE และอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ เพราะสถานการณ์โควิด-19 เป็นการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกตามคำประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้งยังทำให้เกิดการกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไรในตลาดมืด ซึ่งเกี่ยวโยงกับการทุจริตในระบบการทำงานของรัฐบาลหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ตั้งคำถามให้ตรวจสอบความผิดปกติในการกักตุนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขในประเทศไทย กลับถูกอดีตสมาชิกพรรครัฐบาลฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาว่าเผยแพร่ 'ข่าวปลอม' ส่วนบุคลากรการแพทย์ที่วิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องในระบบก็ถูกหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องขู่ว่าจะลงโทษทางวินัย ทั้งที่ความเป็นจริง กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการรับมือและควบคุมโรคระบาดที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ

ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดอาจส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์เผชิญกับภาวะหมดไฟในการทำงาน เพราะนอกจากจะต้องทำงานหนักแข่งกับเวลาแล้ว พวกเขายังไม่ได้รับการปกป้องจากรัฐบาลอย่างที่ควรจะเป็นด้วย

ก่อนหน้านี้ WHO เคยเตือนเช่นกันว่า บุคลากรการแพทย์ทั่วโลกเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด เพราะระบบสาธารณสุขในหลายประเทศไม่มีการฝึกอบรมหรือให้ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์แก่ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ บุคลากรจำนวนมากจึงขาดประสบการณ์ในการวินิจฉัยแยกแยะอาการ โดยเฉพาะอาการของโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จึงประเมินผู้ติดเชื้อได้ล่าช้า ทำให้การป้องกันและรับมือล่าช้าไปด้วย

นอกจากนี้ หลายประเทศไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองที่เพียงพอให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ หรือถ้ามีก็อาจจะเป็นอุปกรณ์ที่ 'ด้อยประสิทธิภาพ' หากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป จะกระทบต่อการควบคุมและป้องกันโรคระบาด และ WHO เน้นว่า รัฐบาลทุกประเทศต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันที่ดีและเพียงพอ รวมถึงยกระดับการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อให้เข้าใจและสามารถแยกแยะอาการของโรคระบบทางเดินหายใจได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: