เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 25 ต.ค. 2565 ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ โทนี่ วู้ดซัม (Toney Woodsome) กล่าวในรายการ CareTalk x Care ClubHouse ในหัวข้อ ‘พวกเธอมานี่ “พี่โทนี่” จะรีวิวหนังสือ!!’ สืบเนื่องจากหนังสืออัตชีวประวัติของโทนี ‘Thaksin Shinawatra: Theory and Thought’ ซึ่งประสบความสำเร็จด้านยอดขายหลังเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา เพียง 4 วัน ขายได้จนหมดถึง 2,492 เล่ม และมีการจองผ่านทางออนไลน์จนหมดโควตาการพิมพ์ครั้งที่ 1
ทั้งนี้ ในรายการดังกล่าวยังได้เชิญ เอื้อบุญ จงสมชัย บรรณาธิการหนังสือ ‘Thaksin Shinawatra: Theory and Thought’ มาพูดถึงเบื้องหลังการจัดทำหนังสือดังกล่าวด้วย
โทนี่ กล่าวถึงการแจกลายเซ็นออนไลน์ในงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา โดยระบุว่า ประทับใจทีมงานที่จัดเตรียมงานอย่างดี พร้อมได้นำเทคโนโลยีซึ่งสอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ รู้สึกดีใจที่ได้พบคนกันเองหลายคนมาเข้าคิวเพื่อพูดคุยกัน สำหรับผู้ยังสั่งซื้อไม่ได้ ตนได้คุยกับลูกสาวทราบมาว่ามีแผนจะจัดพิมพ์ใหม่เป็นฉบับปกอ่อนเพื่อประหยัดต้นทุนและให้ราคาถูก ได้ยินว่าจะกลับราคาจากเล่มละ 726 บาท เป็น 267 บาท
“ขอแสดงความยินดีกับตัวเองที่ได้เป็นคุณปู่ป้ายแดง ได้อยู่มาจนเป็นปู่สักที เป็นตามา หลาน 4 คน ทีนี้ โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร ได้ลูก 2 คน รอมานาน คิดว่าลูกชาย (พานทองแท้ ชินวัตร) จะไม่แต่งงานแน่แล้ว สุดท้ายได้ลูกฝาแฝดมา 2 คน ก็ดีใจแล้ว ทำให้มีหลาน 6 คนแล้ว อยากกลับบ้านไปเลี้ยงหลานแล้ว รออีกนิดหนึ่ง ได้กลับบ้านไปเลี้ยงหลาน”
ผู้นำอายุน้อยลงทุกที ให้รู้ว่าสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน คนรุ่นเก่าตามไม่ทัน เป็นได้คือพี่เลี้ยงคอยประคับประคอง อยากเห็นเรามีการพัฒนาที่ทันโลกหน่อย เพราะสงสารชาวบ้าน ความลำบากชองประชาชนที่ตนเคยเห็นตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันก็เหมือนเดิม พอท่าจะดีขึ้นก็ปฏิวัติ ตนคิดว่าหมดเวลาแล้ว ควรเปลี่ยนประเทศให้ทันคนทันสมัยได้แล้ว
เผยเอาหัวใจมาพูดเบื้องหลังหนังสือ ทักษิณ
โทนี เผยความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ โดยเผยว่า ลูกๆ ของตนตั้งใจทำหนังสือเล่มนี้เพราะได้ฟังตนสอนลูกหลาน ไปสอนหนังสือ หรือไปปราศรัย เห็นว่าสิ่งที่ตนพูดและเป็นประโยชน์ยังกระจัดกระจาย จึงคิดทำเป็นหนังสือเล่มนี้ ส่วนการทำหนังสือก็ใช้เวลาสัมภาษณ์แค่ 4 วัน วันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งตนไม่รู้คำถามก่อน จึงตอบสดๆ เพราะเป็นคนชอบเอาหัวใจพูด ชอบพูดความจริงเพราะพูดกี่รอบก็เหมือนกัน ถ้าไปประดิษฐ์ก็จะไม่เหมือนกัน
"ความจริงแล้วพ่อต้องเป็นคนปั้นลูก แต่วันนี้ผมแก่แล้ว ลูกเลยมาปั้นผม ลูกๆเขาช่วยกันทำหนังสือ คิดว่าพ่อตอนอายุ 72 ปีควรมีอะไรสักอย่าง แต่ทำไม่ทัน เลยออกมาตอนอายุ 73 ปี แล้วลูกไปหาคนมืออาชีพมาช่วยกันทำ ทำหนังสือออกมาก็ดีเกินคาด ก็ถามการ์ตูนว่าดีไหม ก็ออกมาดีเกินคาด สัมภาษณ์ผมแค่ 4 วัน วันละ 3 ชั่วโมง สัมภาษณ์และถ่ายภาพด้วย สัมภาษณ์ไม่รู้ว่าถามอะไรบ้าง เพราะตอบสดๆ เพราะผมชอบเอาหัวใจพูด พูดความจริง คือลูกตั้งใจทำหนังสือเล่มนี้ เพราะได้ฟังผมสอนเขาบ้าง สอนหลานบ้าง เล็กเชอร์ ปราศรัยบ้าง ครอบครัวผมอยู่ใกล้ชิด เห็นว่ากกระจัดกระจายสิ่งที่พ่อพูด สามารถสอนลูกสอนหลานได้ จึงเป็นที่มาหนังสือเล่มนี้ ระหว่างนั้นก็ให้ผมไปออกไลฟ์สไตล์ของ Farose ทางช่องทาง Youtube มีคนดูกว่า 1.7 ล้านวิว" โทนี่ ระบุ
ด้าน เอื้อบุญ จงสมชัย บรรณาธิการของหนังสือ Thaksin Shinawatra: Theory and Thought เผยขั้นตอนการจัดทำหนังสือว่า เมื่อได้รับโจทย์มา จึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า เมื่อทำหนังสือเกี่ยวกับบุคคลหนึ่ง เราจะอยากรู้อะไร นอกจากถามตัวเขาเอง จึงคิดว่าควรถามคนรอบตัวเขาด้วย เช่น ลูกๆ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภริยา และบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของ โทนี่ เพื่อให้ได้เห็นตัวตนในมิติที่มาจากปากคนอื่นด้วย
สำหรับประสบการณ์ทำงานกับ โทนี่นั้น เอื้อบุญ ระบุว่า ปกติเวลาสัมภาษณ์บุคคล จะมีทั้งคนที่สัมภาษณ์กลับมาแล้วรู้สึกเฉยๆ รู้สึกชอบน้อยลง แต่สำหรับ โทนี่ สัมภาษณ์กลับมาแล้วสามารถพูดได้เลยว่ารู้สึกชอบมากขึ้น เป็นความรู้สึกที่พูดกี่ครั้งก็เหมือนเดิม รู้สึกเสียดายที่อีก 2 ปีเท่านั้นก็จะครบเทอม ทำไมประเทศถึงเสียคนที่มีศักยภาพขนาดนี้ไป
ส่วนการคัดเลือกบุคคลรอบตัว โทนี่ เพื่อสัมภาษณ์นั้น เอื้อบุญ เผยว่า ใช้วิธีเลือกจากคนที่สะท้อนหลักการ ความคิด หรือปรัชญาการทำงานของ โทนี รวมไปถึงคนขับรถส่วนตัวของ โทนี ทำให้เห็นมุมมองของ โทนี จากสายตาของคนหลายระดับเพื่อให้เห็นมิติรอบด้าน มีความเป็นมนุษย์ที่จับต้องได้ เป็นจุดสำคัญของหนังสือเล่มนี้
“ด้วยความที่เราเคยเจอแต่ ทักษิณ ผ่านสื่อ ก็จะเห็นแค่มุมนักการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ในหนังสือเล่มนี้เราอยากให้เห็นมุมอื่นๆ มุมที่มีความเป็นมนุษย์ เป็นคนรักครอบครัวคนหนึ่ง คนที่อยากเลี้ยงหลานในช่วงบั้นปลาย ถ้าได้อ่านเล่มนี้จะได้เห็นอีกมุมที่เป็นมนุษย์กว่าที่เคยเห็นในสื่อ” เอื้อบุญ กล่าว
'โทนี่' เผยรอดูวันกลับไทย เตรียมบินไปเลี้ยงหลาน 6 คน
วีรพร นิติประภา นักเขียนนวนิยาย เจ้าของรางวัลซีไรต์ 2 สมัย กล่าวถึงความรู้สึกหลังอ่านหนังสือดังกล่าว โดยระบุว่า ชอบที่ได้เห็นความเป็นมนุษย์ธรรมดาของ โทนี่ ผ่านบทสัมภาษณ์ และพาย้อนไปสู่ความรู้สึกเมื่อในอดีตครั้งที่บ้านเมืองยังคงมีความหวัง ไม่ได้เป็นสิ่งง่ายๆ เพราะความหวังต้องยึดโยงกับความเป็นไปได้ ซึ่งเด็กรุ่นหลังจะไม่ได้เห็น เพราะเกิดมาในยุคสมัยที่ความหวังซึมเซาเศร้าลำเค็ญ
“คนเสื้อแดงเองเขาก็อยู่ด้วยความหวังแบบนี้ คนที่ได้รู้จักความหวังแล้ว คุณก็หยุดเขาไม่ได้ ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ก็สู้ของเขาอีกแบบ ก็ไม่ได้อ่อนด้อย เขาสู้ด้วยความสิ้นหวัง และ Unbeatable ทั้งคู่” วีรพร กล่าว
จากนั้น วีรพร ได้ตั้งคำถามต่อ โทนี่ ที่ไม่ได้มีอยู่ในหนังสือเล่มนี้ โดยถามโทนี่คิดว่าจะกลับมาประเทศไทยเมื่อไหร่ ซึ่ง โทนี่ ตอบว่า “ตอนนี้หลาน 6 คนแล้วครับ ก็ถึงเวลาแล้ว ดูจังหวะเวลาเท่านั้นเอง ทุกอย่างมันต้องมีการวางแผนให้ดี”
"คือจริงๆแล้วหลานโตเร็วมาก หลาน 2 ขวบครึ่งเจอลอนดอน เขาถามว่าทำไมไม่กลับบ้าน ใครทำร้ายคุณตา วันๆผ่านไปเร็วมาก เราเหลือเวลาอีกกี่ปีแล้วรีบกลับบ้านไปเลี้ยงหลานดีกว่า"โทนี่กล่าว
ลั่นทำงานนายกฯ เกือบ 6 ปีแต่ทำงานได้มากกว่าหลายคนที่อยู่นาน
โทนี่ กล่าวถึงความสำเร็จของนโยบายในอดีตว่า เวลาตนทำงาน ตนเป็นคนทำงานทะลุทะลวง ทำงานต้องให้สำเร็จ และต้องติดตาม จะปล่อยให้ทุกอย่างไหลไปตามระบบไม่ได้อยู่แล้ว เพราะการมอบหมายจะเริ่มผิดเพี้ยนเมื่อลงจากระดับบนสู่ล่าง ประเทศไทยเวลามอบหมายงานไม่มีเจ้าภาพไม่ได้ มิเช่นนั้นจะหายไปเลย เช่นต่างชาติมักบอกว่า เมื่องานสำเร็จ เจ้าภาพจะเยอะมาก แต่ถ้างานสำเร็จ เป็นลูกกำพร้าเลย
“ในชีวิตผมเป็นคนคิดบวก ต้องให้ความหวังกับตัวเอง แม้ขณะที่วันนั้นเราลำบากที่สุด ดังนั้นผมจึงรู้วิธีให้ความหวังกับคนที่ลำบากวันนี้อย่างไร แต่เมื่อให้ความหวังเขาแล้วเราต้องทำให้ได้อย่างนั้น เพราะเขาหวังกับเราแล้ว ต้องอย่าให้เขาผิดหวัง นิสัยผมเป็นคนอย่างนี้ ก็เลยเป็นคนบ้างานทะลุทะลวงมาตลอด ระยะเวลาไม่ถึง 6 ปีดี ผมว่าผมทำงานได้มากกว่าหลายๆ คนที่ทำงานนานกว่านั้น เพราะผมตามงานทุกวัน สั่งวันนี้พรุ่งนี้ถามว่าถึงไหนแล้ว รัฐมนตรีผมกลัวผมทุกคน เป็นรัฐมนตรีผมเท่ก็จริง แต่เหนื่อยที่ผม” โทนี กล่าว
โทนี่ยังบอกว่าตนชอบช่วงสุดท้ายของหนังสือคือช่วงของหลาน (วาดการ์ตูน อยากให้ ดร.ทักษิณ กลับประเทศ) พวกนี้คือเจนอัลฟ่า ทุุกอย่างดิจิทัลไลฟ์หมด ตนชอบให้หลานเล่นเทคโนโลยีมาก พอผมพูดถึงยูเอฟโอ จานบิน วาคิณ คุณากรวงศ์ (บุตรชายของ พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์) ถามไม่หยุด เด็กมีจิตนาการ พูดด้วยแล้วมีความสุข
รับเสียดายโอกาส คนรุ่นใหม่มองเห็นแต่ความสิ้นหวังในวันนี้
โทนี ย้ำว่า ตนเสียดายประเทศที่ต้องสูญเสียโอกาสไป และได้รับรู้ถึงความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ที่จดจำความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัวในอดีต เวลานี้ประเทศคือความสิ้นหวังสำหรับเด็กรุ่นใหม่ มองไม่เห็นความรุ่งเรืองทันสมัยทันโลก ตนยินดีจริงๆ ที่จะสอน ขอให้ทำตนอยากให้บ้านเมืองดี ใครจะเป็นใหญ่เป็นเลย ขอให้เป็นแล้วทำให้ได้ อย่าเป็นเพื่อเอาเท่
สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ หนึ่งในบุคคลให้สัมภาษณ์ในหนังสือ เล่าถึงความประทับใจที่มีต่อ โทนี่ว่า แม้ตนเพิ่ง 9 ขวบ แต่ก็รับรู้ถึงความเจริญของไทยที่กำลังพุ่งทะยานไปสู่แนวหน้า เป็นยุคที่บอกใครต่อใครได้ว่าประเทศไทยกำลังเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย จนถึงขั้นเสนอแนวคิดเรื่องสกุลเงินระดับทวีปเหมือนยูโรได้ อีกประการคือการจัดการปัญหาเรื่องยาเสพติดอย่างจริงจัง ทำให้รู้สึกได้ว่าความเสี่ยงในชีวิตลดลง
ในมุมของ สิรวิชญ์ ยังเห็นว่า โทนี่ไม่ใช่นักการเมืองที่เอาความดีของตัวเองมาเป็นจุดขาย แต่จะขอลองทำโดยไม่กลัวเสียหน้า เพราะไม่ลองไม่รู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเห็นได้ว่าแตกต่างจากนักการเมืองหรือนายกรัฐมนตรีคนอื่นโดยสิ้นเชิง และหลังจากสมัยของรัฐบาล ทักษิณ นั้น ส่งผลให้มาตรวัดทางการเมืองเปลี่ยนไป ต่อไปการนำเสนอนโยบายจึงต้องหยิบยกสิ่งที่จับต้องได้จริงๆ
โทนี่ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของคำว่า โอกาส หรือที่เขียนในหนังสือ ‘People Empowerment’ ถ้าคนไทยมีโอกาสและได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ และทุกคนสามารถตั้งตัวได้ไม่ว่าจะรวยหรือจน และหน้าที่ของรัฐบาลคือสร้างโอกาสให้ประชาชน การสร้างโอกาสพูดง่ายแต่ทำยาก เพราะต้องทำมองทุกมิติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียวไม่ถือเป็นการสร้างโอกาส เช่น การตัดถนนเข้าไปในหมู่บ้าน เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ประชาชน แต่ยังไม่มีรายได้มอบให้เขา ดังนั้น การสร้างโอกาสต้องมองให้รอบด้าน
ทูตนอกแถว ชี้ยุครัฐบาลไทยรักไทย ยุคทองการทูตระหว่างประเทศ
รัศมิ์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ มองว่า ยุคของรัฐบาลไทยรักไทยเป็นยุคทองของการทูตระหว่างประเทศ โดยตั้งข้อสังเกตว่าถ้านับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมาจนถึงยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ไทยมีการใช้นโยบายการต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพในบางครั้งก็จริง แต่ที่ผ่านมาเป็นการใช้นโยบายเพื่อการอยู่รอด เพื่อต่อต้านภัยคุกคามด้านต่างๆ จนยุคของ พล.อ.ชาติชาย ที่ใช้นโยบายแนววิสัยทัศน์ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า
ขณะที่นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล ทักษิณ เป็นครั้งแรกที่ใช้นโยบายการต่างประเทศเพื่อเสริมสร้างสถานะของไทยในเวทีโลกอย่างแท้จริง เพื่อปักหมุดให้ไทยอยู่บนจอเรดาห์ของโลกได้อย่างสมบูรณ์ โทนี มองทะลุ และริเริ่มความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อสร้างภาพใหญ่ นำไปสู่การประชุมเอเปคที่ประสบความสำเร็จอย่างล้้นหลาม ยกระดับไทยไปสู่แนวหน้าของภูมิภาคอย่างแท้จริง ชนิดที่ว่ายังไม่เคยเห็นรัฐบาลในยุคใดทำได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง