ไม่พบผลการค้นหา
คลื่นความร้อนได้เข้าปกคลุมยุโรปตะวันตกบางส่วน ก่อให้เกิดไฟป่าลุกโชนในฝรั่งเศสและสเปน ภัยแล้งอย่างหนักในโปรตุเกส และส่งผลให้สหราชอาณาจักร เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ค.) พบกับวันที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์ประเทศ

ไฟป่าได้แผ่กระจายไปทั่วพื้นที่หลายพันเอเคอร์ในเขตฌีรงด์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส จนต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงกว่า 1,700 คนเข้าควบคุมเพลิง ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ค.) เมืองคาโซ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน สามารถตรวจวัดอุณหภูมิได้กว่า 42.4 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา นับตั้งแต่มีการจัดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วในปี 2464 รวมถึงเมืองใหญ่ๆ ในฝรั่งเศสตะวันตก เช่น น็องต์ และเบรสต์ ต่างก็มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17 ก.ค.) ที่ประเทศสเปนเกิดไฟป่าที่กวาดล้างพื้นที่ภาคกลางของแคว้นกาสตีล และเลออน รวมถึงพื้นที่ทางเหนือของแคว้นกาลิเซีย ส่งผลให้บริษัทรถไฟของรัฐระงับการให้บริการระหว่างมาดริด และกาลิเซียเนื่องจากเหตุไฟป่าดังกล่าว

เปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน เปิดเผยว่า พื้นที่กว่า 70,000 เฮกตาร์ ได้ถูกไฟป่าทำลายจนหมด "ไฟป่าได้ทำลายพื้นที่ไปแล้วกว่า 70,000 เฮกตาร์ ถือว่าเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของค่าเฉลี่ยในรอบสิบปีที่ผ่านมา" ซานเชซกล่าว

เมื่อวันจันทร์ สถาบันสุขภาพคาร์ลอสที่สามของสเปน ออกมาประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนรวมมากกว่า 510 รายทั่วประเทศ 

เช่นเดียวกันกับสเปน มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยรายในประเทศโปรตุเกส หลังอุณหภูมิที่ร้อนระอุ ทำให้ภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้น โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (16 ก.ค.) กระทรวงสาธารณสุขของโปรตุเกสกล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตทั่วทั้งโปรตุเกสแล้วกว่า 659 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มีผู้สูงอายุสองสามีภรรยาเสียชีวิต หลังจากรถของพวกเขาพลิกคว่ำขณะหนีไฟป่าในภาคเหนือของโปรตุเกส 

โดยรวมแล้วปรากฎการณ์คลื่นความร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปตอนใต้ ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 1,100 ราย ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าปรากฎการณ์คลื่นความร้อนจะแตะจุดสูงสุดในช่วงต้นสัปดาห์นี้

ในขณะที่คลื่นความร้อนเคลื่อนตัวไปทั่วประเทศ อุณหภูมิของกรุงปารีส คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 39 องศาเซลเซียส ภายในวันอังคาร (19 ก.ค.)

โดยวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ค.) สหราชอาณาจักรมีอุณหภูมิสูงถึง 38.1 องศา ในแซนตัน ดาวน์แฮม ทางตะวันออกของอังกฤษ นับเป็นวันที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์อันดับที่ 3 ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของสหราชอาณาจักรต่างเตือนว่าสถานการณ์อาจจะเลวร้ายลง “วันอังคารนี้น่าจะยิ่งร้อนระอุกว่าเดิม” เพเนโลปี เอนเดอร์สบี ผู้บริหารสูงสุดของ Met Office บริษัทด้านอุตุนิยมวิทยากล่าว

“วันพรุ่งนี้มีโอกาสสูงมากที่อุณหภูมิจะพุ่งถึง 40 องศาเซลเซียสและอาจจะมากกว่านั้นด้วยซ้ำ” เอนเดอร์สบีกล่าวเสริม ก่อนที่จะระบุว่า “อุณหภูมิอาจจะสูงกว่านั้น สักประมาณ 41 องศาเซลเซียส หรือแม้กระทั่ง 43 องศาเซลเซียส แต่ก็หวังว่าจะไม่สูงขนาดนั้น”

สถาบันอุตุนิยมวิทยาของเบลเยียม (KMI/IRM) ได้ออกคำเตือนสภาพอากาศว่าเป็น "สัญญานอันตราย" สำหรับความร้อนในสองจังหวัดของประเทศ ในวันอังคารนี้ (19 ก.ค.) โดยมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะสูงถึง 40 องศาเซลเซียสทางทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเบลเยียม

สถาบันอุตุนิยมวิทยาของเบลเยียมประกาศเตือนประชาชนว่า "ด้วยอุณหภูมิที่สูงขนาดนี้ เราจำเป็นจะต้องมีมาตรการบางอย่าง เช่น ดื่มน้ำบ่อยๆ สวมเสื้อผ้าที่มีน้ำหนักเบา อยู่ในห้องเย็นๆ  ตรวจสอบสุขภาพเป็นประจำ กินอาหารย่อยง่าย (และกินให้น้อยลง) ปิดประตูและหน้าต่างเพื่อกันความร้อน พวกสัตว์และสัตว์เลี้ยงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ” 

เมื่อวันจันทร์ (18 ก.ค.) นักวิจัยจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกล่าวว่า เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศทั่วทั้งยุโรป รวมทั้งสหราชอาณาจักร "มีความเสี่ยง" ที่จะเกิดภัยแล้ง โดยศูนย์วิจัยร่วมย้ำว่า ภัยแล้งในยุโรป "จะเข้าสู่ขั้นวิกฤติ" เนื่องจาก "ปัญหาการขาดแคลนน้ำฝนในฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ จะยิ่งรุนแรงขึ้นจากคลื่นความร้อนในช่วงต้นเดือน พ.ค. และ มิ.ย. และแหล่งน้ำอาจ ‘แห้งเหือด’ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” 

ศาสตราจารย์ ไมลส์ อัลเลน แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า เราจะหลีกเลี่ยงคลื่นความร้อนไม่ได้เลย หากไม่ช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอนให้เร็วที่สุด “นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ปกติแต่อย่างใด ตอนนี้อุณหภูมิมันสูงขึ้นเรื่อยๆแล้ว” อัลเลนกล่าวเสริม

เขากล่าวว่าทางออกของปัญหา คือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงาน บริษัทแต่ละแห่งคงจะไม่ยอมเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอยู่ฝ่ายเดียว เนื่องจากความกังวลว่าจะเสียเปรียบคู่แข่ง “ต้องมีข้อบังคับเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทั้งหมด” อัลเลนกล่าว

 

ที่มา: 

https://edition.cnn.com/2022/07/18/weather/europe-uk-heatwave-wildfires-france-spain-intl/index.html