ไม่พบผลการค้นหา
คณะนักวิจัยศึกษาบุคลิกภาพกลุ่มเป้าหมายโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประเมินผลการเคลื่อนไหวของดวงตา สามารถแบ่งคนได้เป็น 4 แบบ อ้างอิงบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบที่นักจิตวิทยาใช้จำแนกคน

โทเบียส ล็อตเชอร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย เป็นผู้นำการศึกษาวิจัยเรื่องการใช้เอไอประเมินการเคลื่อนไหวของดวงตามนุษย์ โดยเป็นการศึกษาร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในเยอรมนีอีก 3 แห่ง พบว่าการเคลื่อนไหวของดวงตาสามารถใช้เป็นปัจจัยบ่งชี้ได้ว่าเจ้าของดวงตามีบุคลิกภาพแบบใด โดยใช้เกณฑ์การจำแนกบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบที่นิยมใช้ในการศึกษาด้านจิตวิทยาเป็นตัวอ้างอิง

ล็อตเชอร์สรุปว่าการใช้เอไออ่านการเคลื่อนไหวของดวงตาเพื่อจำแนกบุคลิกภาพ สามารถจำแนกได้ 4 ใน 5 กลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ เป็นมิตร, รอบคอบ, ชอบเข้าสังคม และไม่มั่นคงทางอารมณ์ แต่บุคลิกภาพ 'เปิดกว้างรับความคิดเห็นหรือประสบการณ์ใหม่ๆ' ไม่อาจชี้วัดได้อย่างชัดเจน

เว็บไซต์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม Mashable รายงานว่าการศึกษาวิจัยครั้งนี้เผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการเก็บข้อมูลและประเมินผลพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งที่ร่วมวิจัย รวมทั้งหมด 42 คน โดยใช้เครื่องมือสแกนดวงตาเพื่อบันทึกการเคลื่อนไหวของดวงตาและใช้ระบบอัลกอริทึมของเอไอประมวลผล

ผลวิจัยบ่งชี้ว่าการมองหรือการจ้องวัตถุต่างๆ ของคนที่มีบุคลิกภาพแต่ละแบบ จะมีความแตกต่างกันไป เช่น ผู้ที่มีบุคลิกภาพไม่มั่นคงทางอารมณ์จะกะพริบตาถี่ๆ ส่วนผู้ที่เป็นมิตรจะจ้องมองวัตถุเป็นเวลานานกว่าผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบอื่น และผู้ที่มีบุคลิกเปิดกว้างพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะใช้สายตากวาดมองรอบด้านเป็นนิสัย

คณะนักวิจัยระบุว่าการพัฒนาเอไอให้สามารถจดจำหรือจำแนกบุคลิกภาพของมนุษย์จากการเคลื่อนไหวดวงตาจะช่วยให้เอไอทำงานตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างแม่นยำขึ้นในอนาคต และถ้าเอไอสามารถประเมินมนุษย์ได้โดยไม่ต้องใช้ภาษาพูด ก็จะยิ่งช่วยให้การทำงานของระบบอัตโนมัติมีศักยภาพมากขึ้น 

นิตยสารฟอร์บส์รายงานด้วยว่า การพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับและจำแนกอัตลักษณ์จากดวงตามนุษย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกอย่างแอปเปิล โอคิวลัส หรือเฟซบุ๊ก พยายามพัฒนาระบบเอไอที่เกี่ยวข้องกับดวงตามาได้พักใหญ่ และคาดว่าผลการศึกษาวิจัยชิ้นนี้จะยิ่งผลักดันให้ธุรกิจอื่นๆ หันมาพัฒนาเอไอเกี่ยวกับการสแกนหรือตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตาเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการอุตสาหกรรมต่างๆ ในยุค 4.0

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเอไอเพื่อประเมินอารมณ์หรือบุคลิกภาพมนุษย์ด้วยการเคลื่อนไหวของดวงตา สุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นเทคโนโลยีรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของแต่ละบุคคลอย่างมาก เพราะแม้จะไม่ได้พูดหรือพิมพ์หรือสื่อสารใดๆ แต่ระบบเอไอก็อาจจะคาดเดาความคิดหรือพฤติกรรมของมนุษย์ได้เองโดยที่บุคคลดังกล่าวไม่ต้องการ

ที่มา: Forbes/ Mashable/ UNISA

ภาพ: Quentin Lagache on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: