ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรี กำชับเร่งติดตามช่วยเหลือ-สร้างความเข้าใจเกษตรกรผู้เสียสละรับน้ำจากถ้ำหลวง ย้ำจ่ายเงินเยียวยา แจกเมล็ดพันธุ์ข้าว ฟื้นฟูดินหลังน้ำลด พร้อมขอบคุณน้ำใจไมตรีของทุกคน ด้านกรมส่งเสริมการเกษตร ย้ำพร้อมชดเชยเกษตร สำรวจเบื้องต้นพบ 1,397 ไร่ เกษตรกร 101 ราย ได้รับผลกระทบ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการช่วยเหลือเกษตรกรที่เสียสละเป็นพื้นที่รับน้ำจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ว่า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องลงไปติดตามปัญหาสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร และเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่

"ได้รับรายงานว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้เกษตรจังหวัดเชียงราย และเกษตรอำเภอแม่สายลงไปสำรวจพื้นที่ ซึ่งพบว่ามี 3 ตำบล ในอำเภอแม่สายที่ได้รับผลกระทบ คือ ต.ศรีเมืองชุม ต.โป่งผา และ ต.บ้านด้าย รวมจำนวน 1,397 ไร่ เกษตรกรราว 100 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของพื้นที่ที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับอัตราการช่วยเหลือตามระเบียบทางราชการ คือ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่น ๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท โดยระหว่างนี้เกษตรกรสามารถไปแจ้งความเสียหายได้ และคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายระดับหมู่บ้านจะลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นรายแปลง ทุกแปลง คาดว่าภายในเดือนนี้จะได้ข้อสรุปการช่วยเหลือเกษตรกรทั้งหมด

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำด้วยว่าให้จังหวัดเชียงรายพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ของการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ หากไม่เพียงพอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบที่มีอยู่ โดยจะโอนเงินผ่านบัญชีของเกษตรกรโดยตรง นอกจากนี้ จะมีการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว ฟื้นฟูสภาพดิน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคโนโลยีการปลูกข้าวที่เหมาะสมหลังน้ำลดแก่เกษตรกรด้วย 

"ขอบคุณเกษตรกรทั้งหมดที่เสียสละประโยชน์ของตนเอง และปลาบปลื้มใจที่ทราบว่าทุกคนยินดีให้เป็นพื้นที่รับน้ำ ขอเพียงให้สามารถช่วยเหลือเยาวชนทั้ง 13 ชีวิต ออกจากถ้ำได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

กรมส่งเสริมการเกษตร ย้ำพร้อมชดเชยเกษตรผู้รับน้ำจากถ้ำหลวง

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจเบื้องต้น พบว่า มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมและปริมาณน้ำที่สูบออกจากถ้ำหลวงลงลำธารสาธารณะ จำนวน 1,397 ไร่ เกษตรกร 101 ราย ซึ่งการช่วยเหลือจะยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือชดเชยความเสียหาย

"ต้องเป็นเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย จำนวนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง รายละไม่เกิน 30 ไร่ อัตราการช่วยเหลือตามระเบียบ คือ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท" นายสมชาย กล่าว

สำหรับ ขั้นตอนและวิธีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เมื่อเกิดภัยพิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอประกาศให้เกษตรกรยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ01) และมีการรับรองโดยผู้นำท้องถิ่น และตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจริงกับทะเบียนเกษตรกรด้วยคณะกรรมการตรวจสอบระดับหมู่บ้าน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูล และติดประกาศคัดค้านไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอหรือจังหวัด (ก.ช.ภ.อ./ก.ช.ภ.จ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือ วงเงินทดรองอยู่ในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่เกิน 20 ล้านบาท ซึ่งหากไม่เพียงพอ จะนำเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อขอใช้เงินทดรองราชการในอำนาจปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 50 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจะโอนผ่านบัญชีของเกษตรกรโดยตรง 

สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงอยู่ระหว่างให้เกษตรกรมาแจ้งความเสียหายตามแบบยื่นความจำนง และคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายจากภัยพิบัติด้านพืชระดับหมู่บ้านจะลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายที่แท้จริงเป็นรายแปลง ทุกแปลง

ดังนั้น จึงคาดว่าภายในวันที่ 26 ก.ค. 2561 ตามแผน จะสามารถจัดประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดเชียงราย (ก.ช.ภ.จ.ชร.) เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป


อ่านเพิ่มเติม