จึงเป็นช่วงเวลาที่ ‘แหลมคม’ ของรัฐบาล คสช. เพราะการจะ ‘ลงหลังเสือ’ ต้องไม่ให้เสือมากัดหรือทำร้ายได้
นั่นคือการบริหารการใช้อำนาจ หรือ ‘พระเดช-พระคุณ’ ให้ดี ท่ามกลางการ ‘ผ่อนคลาย’ ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต้ต้นปี 2561ที่แม้ว่าการเคลื่อนไหวยังทำได้ไม่อิสระเท่าสถานการณ์ปกติ จึงทำให้กลุ่มการเมืองและพรรคต่างๆออกเคลื่อนไหวมากขึ้น เพื่อ ‘เป่าปี่ตีกลอง’ ก่อนเลือกตั้งปี62 ให้เป็นที่ ‘จดจำ-จำได้’ ของประชาชน
แต่สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินนั้น นอกเหนือไปจากการรับมือฝ่ายการเมือง แต่จับตาไปถึงภาคประชาสังคมด้วย ล่าสุดขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องถึงประเด็นการแก้ปัญหาความยากจน ที่ดินทำกิน และปากท้อง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองโดยตรง เป็นเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน และเริ่มเดินขบวนตามจุดต่างๆในกรุงเทพฯ เป็นภาคการชุมนุมในยุครัฐบาลปกติที่กลับมาให้เห็นในยุครัฐบาลสถานการณ์พิเศษ ที่ปกครองโดย คสช. ใกล้จะครบ 4 ปีเต็มวันที่ 22 พ.ค.นี้
แต่อย่าลืมกลุ่มการเมือง ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ ที่ยกระดับการเคลื่อนไหว ช่วงครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร โดยจะเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล 22 พ.ค.นี้ แน่นอนว่าสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคง จับตาเฝ้าระวังคือมือที่สาม ที่อาจเข้ามาสร้างสถานการณ์ อีกทั้งเฝ้าระวังการปลุกระดมต่างๆ
“ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลทำจะสัมฤทธิ์ผลในอนาคตแต่ต้องใช้เวลาบ้าง จนทำให้บางคนพอใจ บางคนไม่พอใจ ก็ออกมาเคลื่อนไหว แต่ผมคิดว่าถ้ารออีกสักนิด โดยที่ไม่เร่งรัดเกินไป จนก่อให้เกิดผลกระทบเป็นความขัดแย่งที่รุนแรง นำไปสู่ความสูญเสีย มันจะดีกว่าไหม" พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าวเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2561
คำพูดของ พล.อ.เฉลิมชัย น่าสนใจว่าได้กล่าวไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งหรือกลุ่มพีมูฟยังไม่ได้จัดทัพการเคลื่อนไหวชัดเจนในช่วงเวลานั้น เป็นการประเมินสถานการณ์ของกองทัพรับต้นปี 2561 ว่าปีนี้จะมีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆมากขึ้น แน่นอนว่ามีวาระสำคัญคือการ ‘ทวงถาม’ สิ่งต่างๆจากรัฐบาล ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต เรื่องทางการเมือง เป็นต้น
ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สั่งการในที่ประชุมสภากลาโหม ให้ พล.อ.เฉลิมชัย ในฐานะเลขาธิการ คสช. ไปจัดทำ ‘คู่มือ’ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายปกติและคำสั่งคสช. โดยเฉพาะที่จะต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง เช่น การดูแลป้องกันเหตุจากการชุมนุม การจัดระเบียบสังคม เป็นต้น เพราะที่ผ่านมาไม่มีการจัดทำขึ้น มีเพียงคู่มือรับมือการชุมนุมต่างๆที่มีมาตั้งนานแล้ว
ซึ่งคู่มือนี้จะต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกฎหมายเดิม ได้แก่ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก มาประมวล
กับส่วนที่ 2 คือ กฎหมายใหม่ ได้แก่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และ คำสั่งคสช. ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือการจัดระเบียบสังคม มาสรุปให้เจ้าหน้าทราบถึงอำนาจและกรอบกฎหมายที่มี การเข้าใจมาตรการรับมือต่างๆ โดยยึดหลักจากเบาไปหาหนัก
อีกทั้งต้องเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล เช่น หลักเกณฑ์การใช้กฎการใช้กำลัง ( Rules of Engagement หรือ ROE ) การเข้าตรวจค้น การพกปืน การป้องกันตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดภาพการตีความไปว่าละเมิดสิทธิต่างๆตามมา โดยในคู่มือจะแบ่งเป็นกรณีสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในการทำงานของตำรวจหรือทหารฝ่ายเดียว และการทำงานร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย
ซึ่งเกิดมาจากเจ้าหน้าที่จะต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนกำลังตามวงรอบ ทำให้การทำงานต่างๆเปลี่ยนมือผู้ดูแล การจัดทำคู่มือนี้เพื่อให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน ทำงานง่ายขึ้น และรู้กรอบต่างๆ
โดย พล.อ.ประวิตร เปิดเผยเบื้องต้นว่าจะแบ่งเป็นประมาณ 7 หัวข้อ ภายหลังการจัดทำจะนำเผยแพร่ ไม่ใช่เรื่องปิดลับใดๆ เพื่อให้ประชาชนทราบขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วย
“จะมีรูปแบบเป็นรายละเอียดที่แจกให้ผู้บังคับหน่วยในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจ ขณะที่กำลังพลที่เป็นลูกแถว ก็จะมีรายละเอียดเฉพาะในการปฏิบัติอยู่ด้วย แต่คู่มือใหญ่จะเป็นภาพรวมอธิบายถึงเจตนารมณ์ ความรับผิดชอบและขอบเขตอำนาจต่างๆ จากนั้นก็จะแยกย่อยไปว่าระดับไหนจะเป็นอย่างไรและรู้แค่ไหน” ผบ.ทบ. กล่าว
อีกทั้ง ฝ่ายความมั่นคง ชี้แจงว่า อีกปัจจัยสำคัญของการจัดทำคู่มือ เพราะ คำสั่ง คสช.บางฉบับมีบางประเด็นที่ไปเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพที่เป็นหลักสากล เพื่อระงับเหตุความวุ่นวายที่เคยเกิดขึ้น ก่อน คสช. เข้ามา 22 พ.ค.2557 จึงต้องออกคู่มือมาเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เช่น การจัดระเบียบสังคม การปราบปรามผู้มีอิทธิพล การยับยั้งการปลุกระดม การพูดส่อเสียดให้เกิดความขัดแย้ง เป็นต้น
สะท้อนว่า คสช. ให้ความสำคัญกับหลักสากล เพราะถือเป็นมาตรการกดกันของต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งเกรงว่าจะถูกใช้เป็น ‘เงื่อนไข’ ในการปลุกระดมได้ กลายเป็น ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ตามมา
“เวลาเกิดเรื่องขึ้น แล้วมาคุยกันลึกๆ ก็พบว่ามีความผิดจริง แต่เวลาออกไปพูดเพียงกว้างๆเรื่องละเมิดสิทธิ ใครก็เห็นด้วย” ฝ่ายความมั่นคง ระบุ
ฝ่ายความมั่นคงได้ยกตัวอย่างถึง กรณีเจ้าหน้าที่ทหารกับเจ้าของโรงแรมที่ จ.ภูเก็ต หลังได้รับร้องเรียนว่าเจ้าของโรงแรมเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพล จึงทำการเข้าไปยังโรงแรมเพื่อขอพบ แล้วต่างฝ่ายต่างอัดคลิปมาใช้อ้างถึงการกระทำของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งคู่มือจะกำชับให้เจ้าหน้าที่ต้องรอบคอบมากขึ้น มีความอดทน ควบคุมอารมณ์ได้ ไม่แสดงกิริยาก้าวร้าว
ทั้งหมดนี้เพื่อให้การปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ทหาร - ตำรวจ มีความ ‘ตรงไปตรงมา’ และเป็น ‘เอกภาพ’ ไม่ให้ไปกระทำผิดกฎหมายเสียเอง
เพราะถือเป็นยุคแห่งการปฏิรูปทั้งวงการทหาร-ตำรวจ ที่ต้องมีความเป็น ‘ระเบียบเรียบร้อย’ ในทุกๆส่วน ให้เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน อีกทั้งเพื่อรองรับการ ‘เคลื่อนไหว’ ที่มากขึ้นของฝ่ายต่างๆในช่วง ‘ลงหลังเสือ’ ของ คสช.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ประวิตร' เผยทำคู่มือชุมนุมตามหลักสากล เชื่อม็อบเลือกตั้งชุมนุมไม่รุนแรง