นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงปัญหาสุขภาพช่องปากในคนพิการว่าคนพิการมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากเหมือนกับคนปกติทั่วไป เช่น ฟันผุ ฟันคุด แผลในช่องปาก เหงือกบวม เหงือกอักเสบ และคนพิการมักเป็นโรคในช่อง���ากรุนแรงและมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรค และข้อจำกัดหลายประการในการดูแลสุขภาพของตนเอง การทำความสะอาดช่องปากอาจทำได้ไม่ดีเท่ากับคนปกติ รวมถึงโอกาสในการรับบริการทางทันตกรรมยังมีความยากลำบากกว่าปกติ เมื่อมาพบทันตแพทย์มักมีปัญหาสุขภาพช่องปากแล้ว คนพิการบางรายที่มีอนามัยในช่องปากที่ไม่ดี ทำให้เกิดโรคในช่องปากได้ง่ายและนำไปสู่โรคอื่นๆ ที่ร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบ การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ฯลฯ ดังนั้นการแนะนำให้คนพิการ สามารถดูแลรักษาอนามัยช่องปากจึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพ
ทั้งนี้ การฝึกทักษะการแปรงฟันให้คนพิการ การช่วยเหลือแนะนำ สอนวิธีแปรงฟัน ควรรู้ประวัติ เช่น มีโรคประจำตัวหรือไม่ มีประวัติทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายคนอื่นหรือไม่ รวมถึงเทคนิคที่ผู้ดูแลใช้ในการจัดการพฤติกรรม เพื่อนำข้อมูลมาปรับใช้ในการฝึกคนพิการให้แปรงฟันได้ ควรแนะนำให้คนพิการและผู้ดูแลมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพช่องปากร่วมกัน และปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลสุขภาพช่องปากให้เหมาะสมกับสภาวะของคนพิการแต่ละราย รวมถึงคำนึงถึงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก โภชนาการ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ และเพื่อสุขภาวะที่ดี
ด้าน ทันตแพทย์บุญชู สุรีย์พงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนพิการต้องการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากมากกว่ากลุ่มอื่น การมีสุขภาพช่องปากไม่ดีจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน การฝึกทักษะการแปรงฟันหรือฝึกวิธีการทำความสะอาดช่องปากที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาวะของคนพิการ ควรปรับวิธีการจัดตำแหน่ง และท่าทางในการแปรงฟันตามสภาพ อาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยทำความสะอาดเพิ่มเติม เช่น แปรงสีฟันไฟฟ้า แปรงซอกฟัน ไหมขัดฟัน เป็นต้น
นอกจากนี้ควรดัดแปลงลักษณะของแปรงสีฟันให้เหมาะสมกับความผิดปกติของคนพิการแต่ละคน เพื่อให้แปรงฟันได้ด้วยตนเอง เช่น คนพิการนิ้วมือไม่มีกำลัง ควรปรับเพิ่มขนาดด้ามแปรงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อช่วยให้คนพิการที่มือแข็งเกร็งหรือนิ้วมือไม่มีกำลังสามารถจับยึดแปรงได้ถนัดขึ้น ควบคุมบังคับมือให้เคลื่อนแปรงสีฟันได้ดี ทั้งนี้คนพิการถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุหรือพบปัญหาสุขภาพช่องปากสูง ดังนั้นควรได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก 3-6 เดือน ซึ่งจะกระตุ้นให้คนพิการและผู้ดูแลใส่ใจต่อสุขภาพช่องปากสามารถพบโรคและรักษาได้ตั้งแต่ระยะแรกเพื่อป้องกันและควบคุมโรคฟันผุที่ได้ผล ทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น