คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อ 'เรื่องระหว่างเรา : กฎหมายคู่ชีวิตและความคิดในสังคมไทย' โดยนายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายนนี้ กรมคุ้มครองสิทธิฯ จะนำร่างกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต มาลงในเว็ปไซต์ของกรมฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 20 วัน และเปิดเวทีวิพากษ์กฎหมาย 5 จุดทั่วประเทศ คือ กรุงเทพมหานคร, พระนครศรีอยุธยา, ขอนแก่น, เชียงใหม่, และสงขลา ก่อนเสนอร่างกฎหมายไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรม เนื่องจาก พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เน้นย้ำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2516
สำหรับเนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับนี้ เน้นไปที่ความสามารถในการจดทะเบียน, ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต, การจัดการทรัพย์สิน, การสิ้นสุดสถานะ, และการจัดการมรดก ทั้งนี้ ส่วนสิ่งที่กังวล คือ เจ้าหน้าที่รัฐจะรู้ได้อย่างไรว่า คู่ชีวิตที่มาขอจดทะเบียนนั้น ไม่ใช่ผู้ที่แอบอ้างมาใช้ประโยชน์หรือสิทธิที่ระบุไว้ในร่างกฎหมาย ซึ่งบางส่วนเสนอให้แพทย์ออกใบยืนยัน แต่วิธีนี้เปรียบเสมือนการตีตราคู่ชีวิต และหากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้แล้ว สังคมไทยจะยอมรับได้แค่ไหน
ด้าน ปอย - ตรีชฎา เพชรรัตน์ ดารา-นางแบบชื่อดัง กล่าวว่า หลังได้รับตำแหน่งมิสทิฟฟานี่ยูนิเวิร์ส ประจำปี 2547 มักจะถูกถามเรื่องส่วนตัว ซึ่งมีลักษณะเป็นการละเมิดหรือคุมคามสิทธิ เช่น ผ่าตัดแปลงเพศแล้วหรือยัง หรือมีความรู้สึกที่อวัยวะเพศหรือไม่ แต่เมื่อโตขึ้นและมีความรู้มากขึ้น ก็จะปฎิเสธตอบคำถามเหล่านี้
เมื่อถามว่า สังคมไทยยอมรับ 'เพศทางเลือก' มากน้อยแค่ไหน? ปอย บอกว่า ในช่วงหลังๆ ไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ และไม่อยากตอบคำถามแล้ว เพราะต่างคนต่างคิด ดังนั้น จึงเน้นการสร้างคุณค่าในตัวเองมากกว่า โดยใช้ความรู้ความสามารถ เพราะผลงานจะพิสูจน์คุณค่าของตัวเรา โดยไม่มีข้อจำกัดทางเพศ
จุดเริ่มต้นของร่างกฎหมายฉบับนี้ เกิดขึ้นในช่วงปี 2555-2556 นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'เกย์นที' ร้องเรียนหน่วยงานรัฐหลายแห่ง เนื่องจากไม่สามารถจดทะเบียนกับคู่รักเพศเดียวกันได้ จึงนำมาสู่การร่างกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต โดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งฉบับแรกมีจำนวน 16 มาตรา เน้นการให้สิทธิเท่ากับการจดทะเบียนสมรส(ชาย-หญิง) และยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้โดยอนุโลม ขณะที่ภาคประชาสังคม ก็ร่างกฎหมายฉบับนี้คู่ขนานอีก 1 ฉบับ แต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557 ขึ้นก่อน จึงยังไม่ได้บรรจุในวาระของรัฐสภา ร่างกฎหมายฯ จึงตกไป
Photo by Nick Karvounis on Unsplash