ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทน 73 พรรคการเมือง ทยอยเข้าห้องประชุม รอ 'ประวิตร' นั่งหัวโต๊ะ ตรวจเข้ม งดนำเครื่องมือสื่อสารเข้า

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาทิ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาฯ กดต. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายประพันธ์ นัยโกวิท คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลเป็นเจ้าภาพจัดการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไป ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมีพรรคการเมืองเก่าและใหม่รวม 73 พรรคการเมืองเข้าหารือ แบ่งเป็นพรรคการเมืองเก่าที่ตอบรับ 45 พรรคการเมือง ไม่สะดวกเข้าร่วม 3 พรรคการเมือง ไม่สามารถติดต่อได้ 22 พรรคการเมือง ขณะที่พรรคการเมืองใหม่ที่ยื่นขอจดแจ้งตั้งพรรคเข้าร่วม 9 พรรคการเมือง และพรรคการเมืองที่อยู่ระหว่างจัดตั้งพรรคเข้าร่วม 19 พรรคการเมือง

โดย พล.อ.ประวิตร จะกล่าวเปิดงาน จากนั้นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะชี้แจงถึงข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง พร้อมเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองซักถามประเด็นที่สงสัย สำหรับบรรยากาศในการเตรียมสถานที่รองรับผู้เข้าร่วมประชุม จะใช้ห้องประชุมมัฆวานรังสรรค์เป็นที่หารือ ซึ่งภายในห้องประชุมมีการจัดโต๊ะให้ตัวแทนพรรคการเมืองแต่ละพรรค ซึ่งติดป้ายชื่อตัวแทน ป้ายชื่อพรรคกำกับตามที่นั่ง และทางผู้จัดได้ขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคนงดนำเครื่องมือสื่อสารเข้าในห้องประชุมเด็ดขาด โดยตั้งแต่เวลาประมาณ 11.00 น. ที่ผ่านมา มีตัวแทนพรรคการเมือง ทยอยเดินทางมารอเข้าร่วมประชุม

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจากหลายสำนักทั้งในประเทศและต่างประเทศมาติดตามรายงานข่าวการประชุมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ มีรายชื่อพรรคการเมืองที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ทั้งหมด 73 พรรค อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคแทนคุณแผ่นดิน พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคความหวังใหม่ พรรคคนไทย พรรคกสิกรไทย พรรคไทยรวมพลัง พรรคไทยรักธรรม พรรคธรรมาภิบาลสังคม พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาสันติ พรรคปฏิรูปไทย พรรคพลังคนกีฬา พรรคเพื่อฟ้าดิน พรรคเพื่อแผ่นดิน

พรรคเพื่อชีวิตใหม่ พรรคพลังสหกรณ์ พรรคพลังไทย พรรคพลังไทยรักชาติ พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคพลังชล พรรคพลังเครือข่ายประชาชน พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย พรรคเพื่อสันติ พรรคภราดรภาพ พรรคมหาชน พรรคมาตุภูมิ พรรคเมืองไทยของเรา พรรคยางพาราไทย พรรครักษ์ธรรม พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคทางเลือกใหม่ พรรคอนาคตไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเสรีนิยม พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคพลังพลเมืองไทย พรรคมติประชา พรรครวมใจไทยพรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคเพื่อชาติไทย พรรคไทยก้าวข้าม และพรรคราษฎร์วิถี

สำหรับพรรคการเมืองที่เข้าร่วมหารือทั้ง 73 พรรคนั้น เป็นพรรคการเมืองพรรคเก่า จำนวน 44 พรรค, พรรคที่ยื่นขอจดแจ้งจัดตั้งพรรค จำนวน 9 พรรค, พรรคที่อยู่ระหว่างการจัดตั้งพรรค จำนวน 7 พรรค, และพรรคที่ขอเข้าประชุมเพิ่มเติมอีก 5 พรรค ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคไทยใหม่ พรรคคนงานไทย พรรคนำไทยพัฒนา และพรรคไทยเสรีประชาธิปไตย

ชาติไทยพัฒนา เตรียมขอความชัดเจนเรื่องการดำเนินกิจกรรมพรรค มั่นใจ รัฐบาล-คสช. ให้คำตอบได้ภายในสัปดาห์นี้

พรรคชาติไทยพัฒนา นำทีมโดยนายวราวุธ ศิลปอาชา ที่ปรึกษาพรรค นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค และนายภราดร ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.พรรค โดยเข้าร่วมการพบปะหารือและรับฟังความเห็นกับตัวแทนรัฐบาลและ คสช. ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี โดยนายวราวุธ เปิดเผยก่อนการหารือว่า ในวันนี้มีข้อซักถามต่อ คสช.เรื่องการจัดประชุมใหญ่และการจัดหาสมาชิกพรรค ซึ่งยังเป็นประเด็นที่เป็นงูกินหางกันอยู่ อย่างการประชุมใหญ่ที่จะต้องมีผู้แทนจากสาขาพรรคเข้ามา แต่ขณะนี้สาขาพรรคก็ถูกยุบไปแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไร ขณะเดียวกันขอให้ คสช.คำนึงถึงความจำเป็นและลำดับความสำคัญเพื่อปลดล็อกพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม โดยเฉพาะการหาสมาชิกพรรค ซึ่งในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาขณะนี้ ยังขาดอีก 4,000 กว่าคน ดังนั้น จึงขอความชัดเจนจากรัฐบาล และ คสช.ว่าจะสามารถดำเนินกิจกรรมได้เมื่อใด ส่วนกรณีการเลือกตั้งขั้นต้นหรือ ไพรมารีโหวตนั้นควรยกเลิกหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องถามผู้ที่กำหนดกรอบกติกา เพราะระบบดังกล่าวไม่เคยใช้มาก่อน จึงยังตอบไม่ได้ว่าดีหรือไม่ 

ส่วนในการพบปะหารือวันนี้จะได้คำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลหรือไม่นั้น นายวราวุธ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าจะได้รับคำตอบจากรัฐบาลและ คสช.ภายในสัปดาห์นี้ และเชื่อมั่นว่า จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 ยืนยันว่า ไม่กังวลที่การพบปะหารือในวันนี้ ไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองนำโทรศัพท์และอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารเข้าไปภายในห้องประชุม เพราะทุกอย่างอยู่ที่สมองและสองมือ หากถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ข้อห้ามดังกล่าวคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ก่อนยึดอำนาจในปี 2557 ส่วนตัวก็รู้สึกเฉยๆ เพราะเมื่อเข้าสถานที่ราชการสำคัญอย่างสถานฑูต ก็ยังต้องฝากเครื่องมือสื่อสารไว้ ทั้งนี้ เห็นด้วยที่รัฐบาลและ คสช.ให้พรรคการเมืองจับกลุ่มและร่วมกันถามคำถาม เพราะหากต่างคนต่างถาม อาจใช้เวลานานกว่าจะจบการหารือ