นายไวทิต ศิริสุวรรณ ประธานกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า สหภาพฯ จะเดินหน้านำเสนอข้อเรียกร้อง และการแก้ไขให้ธนาคารพิจารณา และสหภาพฯ จะชี้แจงพนักงานทุกวัน เวลา 12.00-12.45 ณ ลานน้ำพุ สำนักงานใหญ่รัชโยธิน หากสิ่งที่สหภาพฯ นำเสนอไม่ได้ถูกแก้ไข และยังมีเรื่องการยุบ ควบรวม โยกย้ายงานนั้น ล่าสุดได้รับการติดต่อจากฝ่ายบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ และอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมในช่วงเที่ยงวันนี้ (29 ม.ค.)
อย่างไรก็ตาม นายไวทิต ยืนยันกับ ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ว่า สหภาพฯ ไม่ได้คัดค้านธนาคารปรับลดโครงสร้างองค์กร เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ แต่สิ่งที่สหภาพฯ กำลังทำคือ การให้ฝ่ายบริหารพิจารณาถึงวิธีการปรับลดพนักงาน การคำนึงถึงสิทธิพนักงาน โดยไม่บังคับหรือบีบ พนักงานด้วยการปรับเปลี่ยนโยกย้ายพนักงานไปทำงานส่วนที่เขาไม่ถนัด
ดังนั้น สิ่งที่สหภาพฯ นำเสนอเพื่อแก้ปัญหาให้กับสมาชิกและพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ คือ
1. ขอให้ธนาคารแก้ไขทบทวนการพิจารณาการปรับขึ้นเงินเดือน และเกรดผลงาน (โดยเฉพาะ เกรดผลงาน 1-2)
2.โครงสร้างเงินเดือนใหม่ที่รับปากไว้
3.แก้ปัญหาพนักงานที่กระบอกเงินเดือนตัน
4.ปรับขั้นเงินเดือน ลูกจ้างแม่บ้าน นักการ พนักงานบริการ 1-3
5.ธนาคารเปิดโครงการสมัครใจลาออก หรือ ER
6.กรณียุบควบรวมหน่วยงาน ห้ามบังคับหรือกลั่นแกล้งให้พนักงานมีผลกระทบในทุกกรณี ทั้งเรื่องการย้ายไปปฏิบัติตามที่นายจ้างสั่ง โดยพนักงานไม่ยินยอมและได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสมาชิกสหภาพฯ ประมาณ 9,900 คน จากพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ทั้งหมดประมาณ 21,000 คน และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศในงาน 2020 SCB VISION ว่า ภายในเวลา 3 ปีจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์จะปรับลดสาขาจาก 1,153 สาขาเหลือ 400 สาขา และลดจำนวนพนักงานจาก 27,000 คน เหลือ 15,000 คน
ด้านนางพรรณพร คงยิ่งยง รองผู้จัดการใหญ่ อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บุคคล หรือ Chief People Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของธนาคารที่จะลดจำนวนพนักงานและลดสาขา เพื่อรองรับการการเป็นดิจิทัลแบงก์กิ้งนั้น ทำให้ในระยะ 3 ปีต่อจากนี้จะมีพนักงานลดลงจากปัจจุบันมากกว่า 5,000 คน จากที่ผ่านมามีอัตราลาออก (turn over) ปีละประมาณ 3,000 คนอยู่แล้ว
ดังนั้น นับจากนี้ ในกรณีที่มีพนักงานลาออก ธนาคารจะไม่เติมคนใหม่เข้ามา ยกเว้นแต่ในตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการตามยุทธศาสตร์องค์กร เช่น ด้านดิจิทัล ด้าน RM (บริการลูกค้าสัมพันธ์) กลุ่มนี้ยังมีเพิ่มเข้ามาได้ ส่วนพนักงานที่เหลืออื่นๆ จะหมุนเวียนให้ไปทำงานตำแหน่งงานอื่นๆ ซึ่งตั้งแต่ปีที่่ผ่านมา ธนาคารได้จัดโปรแกรมฝึกอบรมพนักงานให้มีทักษะใหม่ๆ จำนวนหลายโครงการใช้งบประมาณมากกว่าเดิมกว่า 10 เท่า เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรขององค์กรรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
"ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เรามีการจัดตั้ง SCB Academy มีจัดคอร์สเทรนนิ่ง ออนไลน์ และเปิดตำแหน่งงานใหม่ๆ ให้พนักงานสมัครใจปรับเปลี่ยนตัวเองจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อรองรับกับกลยุทธ์ของธุรกิจในอนาคต" นางพรรณพร กล่าว