เมื่อคุณต้องสวมบทบาทเป็นเทพเจ้าจีน แต่เพลงที่ถูกเปิดให้รำดันเป็นเพลงแขก คุณจะ Keep concept อย่างไร ฟังแค่นี้ก็ดูยากมากแล้ว เพราะต้องแบ่งโสตประสาทให้ชัด ไม่แปลกนักที่เราจะเห็น 'ร่างทรง' บางคนหลุดท่าเซิ้งๆ สไตล์แฟนหมอลำรถแห่ออกมาให้เห็น เพราะก็อย่างที่บอกไปนั่นแหละ ว่าการเป็นร่างทรงไม่ใช่เรื่องง่าย...
ตลอดสัปดาห์ความฮอตฮิตของร่างทรงกลายเป็นที่พูดถึง โดยเฉพาะในแง่ความขบขับฟันนี่ตอนองค์ประทับ นี่ก็เป็นทักษะที่ยากยิ่งเช่นกัน ไหนจะเกร็งคอ เกร็งหน้า ปากเปิกหูตาทำหน้าที่สับสน และการพูดภาษาเทพที่ทำได้แค่รอบเดียว น่าแปลกที่ comment ในโลกโซเชียลส่วนใหญ่มองเรื่องนี้ "ไร้สาระ" และ "โคตรฮา"
แต่ทำไมหนาเหล่าร่างทรงกลับยังมีผู้คนเชื่อถือกราบไหว้ มีเจ้าพ่อเจ้าแม่หน้าใหม่ผุดกันเป็นดอกเห็ดหน้าฝน สังคมไทยเราไร้ที่พึ่งทางใจขนาดนั้นเลยหรือ?
อย่ากระนั้นเลย ในบทความนี้จึงจะขอรวบรวมการ 'จับโป๊ะร่างทรง' ที่มีบันทึกอยู่มากมายในเอกสารประวัติศาสตร์ นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้จะร่างทรงจะ 'โดนแหก' และ 'รู้ทัน' มาตั้งแต่ยุคโบร่ำโบราณ แต่สังคมบ้านเราก็ยังไม่เคยขาดแคลนเหล่าเทพเจ้ากายหยาบพวกนี้
ความน่าสนใจของการเป็นร่างทรงอย่างหนึ่งคือ ระหว่างประกอบพิธีมักมีเครื่องเซ่นสรวง คือ ข้าวพล่าปลายำ และของมึนเมา เช่น บุหรี่ยาเส้น และ 'เหล้า' เป็นสิ่งสำคัญ บ่อยครั้งเมื่อองค์เริ่มประทับทรง ของมึนเมาเหล่านี้มักจะได้รับเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงฤทธิ์ เช่น การดูดยาเส้นทีละหลายๆ มวน และการกินเหล้าแบบม้วนเดียวหมดขวด
ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยในอยุธยานาม 'ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง' (Francois Henri Turpin) ดูเหมือนจะติดใจเรื่องร่างทรงมากเป็นพิเศษถึงกับบันทึกไว้อย่างละเอียดหลายหน้า โดยตอนหนึ่งได้เล่าว่า ร่างทรง (ที่มักเป็นเพศหญิง) จะบิดตัวสั่นสะเทิ้มแข็งเกร็งทั้งร่างกาย เมื่อได้ที่ก็จะดื่มเหล้าที่ทำจากข้าว เต้นไปตามดนตรีมโหรี ดาวน์โหลดองค์อยู่สักพักก็จะกลายเป็นเจ้าพ่อเต็มตัว พูดคุยกับสานุศิษย์ด้วยน้ำเสียงกระโชกโฮกฮาก
การย้อมใจด้วยเครื่องเมาดูจะเกี่ยวข้องกับการเข้าทรงเสมือนเนื้อเดียวกัน นอกจากในอยุธยาถ้าข้ามไปถึงวัฒนธรรมกรีก นักบวชหญิงไพธีอา (Pythia) ในวิหารเดลฟี (Delphi) ก่อนจะประทับทรงทำนายเทพพยากรณ์ได้ก็ต้องอาศัยความเมาเข้าช่วยเหมือนกัน ต่างกันเพียงว่าร่างทรงบ้านเรากินเหล้า แต่ไพธีอาจะใช้วิธีสูดควันที่พวยพุ่งจากสะดือโลก (Navel of the world) สันนิษฐานกันว่าคือควันจากหินหนืดใต้ผืนโลก นัยหนึ่งเป็นการลดทอนความเป็นตัวของตัวเองเพื่อเปิดโอกาสให้เทพได้ครอบงำได้เต็มที่ แต่อีกนัยหนึ่งก็คือเมานั่นแหละ เมาจนแสดงท่าเพี้ยนๆ ออกมา
ในทำนองเดียวกัน ร่างทรงที่ตุรแปงได้พบเจอในอยุธยา ดูเหมือนจะเมาอย่างเต็มที่ ระหว่างองค์ลงแล้วยัง "ดื่มเหล้าและกินเนื้อดิบอย่างดุเดือด" ตุรแปงเล่าว่าร่างทรงนั้นมักขู่เข็ญว่าจะทำให้ชาวบ้านป่วยจนกลัวลาน ต้องประเคนของตามที่ถูกเรียกร้องนานา ดูไร้เหตุผลโคตรๆ ในสายตาฝรั่ง ขณะที่ชาวสยามเองก็ไม่ใช่รู้ไม่ทัน ถึงกับเคยเปรยให้ตุรแปงฟังว่า
"...การพูดหลอกลวงเช่นนี้เป็นที่เชื่อถือมาจนกลายเป็นเรื่องที่ทำให้คนทั่วไปล่มจม ชาวสยามเคยพูดว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลกับพวกผีนี่แหละที่กอบโกยเอาสมบัติที่เขาสะสมไว้ไปหมด..."
เรื่องจับโป๊ะเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของร่างทรง 'ตามสั่ง' ที่บอกว่าตามสั่งก็คือ เป็นไปตามคำสั่งของ 'ขุนชำนาญ' (ต่อมาเป็น 'พระชำนาญบริรักษ์' ว่าที่โกษาธิบดี) ทหารเอกของ 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ' ที่อยากกำจัดหอกข้างพระราชบัลลังก์ นั่นก็คือ 'เจ้าพระองค์แก้ว' พี่เขยของเจ้าฟ้าอภัย โอรสของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งพยายามชิงราชสมบัติกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ครั้นจะหาเหตุลอยๆ ก็ดูไม่ค่อยเนียน ขุนชำนาญจึงออกอุบายเอาพระธำมรงค์ไปซ่อนไว้ที่ต้นยางในเขตบ้านเจ้าพระองค์แก้ว จากนั้นก็หาคนทรงมา 'ทรงปลอมๆ' ชี้จุดที่พระธำมรงค์หายไป
"...ออท้าวคนทรงรู้เหตุอยู่แล้ว แกล้งกระทำมารยาเป็นทีเทวดามาสิงสู่ ทำหาวเรอพูดผย้ำเผยอ แล้วทายว่าจะได้พระธำมรงค์นั้นคืน แต่ทว่ามีคนอื่นเอาไปซ่อนไว้ที่ต้นไม้ใหญ่... ว่าแล้วจึงนำข้าหลวงไปขุดเอาพระธำมรงค์นั้นได้ที่ริมต้นยาง... พระธำมรงค์อยู่ในบ้านเรือนเจ้าพระองค์แก้ว จึงพิพากษาว่าเจ้าพระองค์แก้วเป็นกบฏโทษถึงตาย..."
จากเรื่องนี้เห็นได้ว่า โนผี โนเทวดาใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่การเตี๊ยมล้วนๆ ชัดเจนว่าการทรงผีต้องมีแอ๊คติ้งเป็นสำคัญ
สิ่งที่สนุกที่สุดในการร่วมพิธีเข้าทรง คือการเฝ้าดูการประทับองค์อย่างช้าๆ ค่อยๆ เปลี่ยนภาวะจากมนุษย์เป็นเทพด้วยการทำท่าทางต่างๆ ที่มนุษย์เขาไม่ทำกัน แต่บางครั้งการประทับทรงก็ต้องอาศัยสมาธิ ครั้นจะมีใครมาจับจ้อง เจ้าก็อาจจะเขินได้ เหมือนอย่างเช่นเรื่องเล่าของบาดหลวงฝรั่งเศสผู้หนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี ปี พ.ศ. 2313 โดยบาดหลวงได้เล่าถึงชาวคริสต์เข้ารีตผู้หนึ่งที่เอาของไปเร่ขายในหมู่บ้านและก็พบเข้ากับ 'หมอดู' ที่กำลังทำท่ากระโดดโลดเต้น เตรียมพร้อมในการ 'เข้าทรง' อยู่
ชาวคริสต์ผู้นี้ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาว่าหมอดูแม่นยำเหลือหลาย จึงเห็นเป็นโอกาสดีจะนั่งดูการเข้าทรงนี้บ้าง ประมาณว่าพิสูจน์ให้เห็นด้วยตากันจะๆ แต่ปรากฎว่าหมอดูจะกระโดดโลดเต้นสักเท่าไหร่ เจ้าก็ไม่เข้าประทับทรงเสียที จนหมอดูนั้นต้องขอเชิญชาวคริสต์ผู้นั้นออกไปก่อน ความท่อนนี้บันทึกเอาไว้อย่างขำ���่า
“...หมอดูคนนั้นจะกระโดดโลดเต้นสักเท่าไหร่ เจ้าที่จะเข้าทรงก็หาเข้าไม่ จะมัวนอนหลับ หรือจะไปเที่ยวเสียแล้วก็ไม่ทราบ คนทรงจึงร้องขึ้นว่า คงจะมีคนเข้ารีดอยู่ในที่นั่นคน 1 เจ้ากลัวจึงไม่เข้าทรง พวกที่ดูอยู่นั้นก็เที่ยวค้นก็พบคนเข้ารีดของเรา เขาจึงเชิญคนเข้ารีดไปเสียให้พ้นจากที่นั่น คนเข้ารีดก็ต้องไปโดยไม่ได้ดูทรงเจ้าที่ปราถนาไว้ แต่ในเรื่องนี้ก็มีดีอยู่บ้าง เพราะผู้คนที่ดูทรงเจ้าเปนอันมากนั้น ต่างคนต่างประหลาดใจ ว่าคนเข้ารีดมีอำนาจมากมายจนถึงกับเจ้ากลัวดังนี้...”
อ้างอิง
[1] ตุรแปง, ฟรังซัวส์ อังรี, ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักสยาม = Histoire du Royaume de Siam, tome premier (พิมพ์ครั้งที่ 2), กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2539, หน้า 93-94.
[2] ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จกรมพระ, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส และพงศาวดารเหนือฉบับพระวิเชียรปรีชา (น้อย) เล่ม 1, พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504, หน้าที่ 230-231.