ในยามที่พายุหลายลูกพัดเข้าทางภาคเหนือและอีสานของประเทศไทยรวมถึง สปป.ลาว ก่อให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และน้ำท่วมตัดขาดทางสัญจรในหลายพื้นที่ ทั้งแพร่ น่าน เชียงราย นครพนม หนองคาย หากเป็นเมื่อหลายปีก่อน เวลาเกิดภัยธรรมชาติเราก็จะเห็นภาพของนักข่าวภาคสนามจากช่องหลักลงพื้นที่ลุยน้ำลุยโคลน ก่อนจะเป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์พาดหัวรับรู้กันทั้งประเทศ พร้อมที่จะรับสายธารน้ำใจบริจาคช่วยเหลือเป็นครั้งคราวไป
แต่ทุกวันนี้เมื่อสื่อหลักของประเทศได้รับความสนใจน้อยลง ทำให้การเผยแพร่ข่าวสารภัยพิบัติทั้งการแจ้งเตือน การระวังตัว และการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุไม่ได้ถูกรับรู้โดยสังคมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสำหรับคนที่รับสื่อผ่านโซเชียลในมุมของตนเอง ยิ่งไม่ทราบว่าในตอนนี้เกิดน้ำท่วม ทางขาด หรือดินถล่มมีผู้ได้รับความเดือดร้อนขนาดไหนบ้าง เป็นห้องสะท้อนเสียงหรือ Echo Chamber ที่ปิดกั้นการรับรู้สื่อในมุมของตนเองไปในทางหนึ่ง
ในอีกทาง สื่อหลักที่ถูกปิดกั้นการนำเสนอข่าว ความคิดเห็น ที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือทุจริต แม้ว่าจะมีมูลความจริงบ้าง ทำให้หน้าข่าวเต็มไปด้วยเรื่องบันเทิง ละคร ตลกโปกฮา และข่าวรูทีนประจำการ ข่าวแจกพีอาร์จากหน่วยงานรัฐและเอกชนไปวันๆ รวมถึงการเล่าข่าวใส่อารมณ์สีสันมากกว่าจะมาสืบเสาะเจาะลึกตีแผ่เรื่องเด่นประเด็นดังอย่างจริงจัง
ในยุคที่สมาร์ทโฟนมีราคาถูก แพ็คเกจอินเทอร์เน็ตในมือถือเข้าถึงได้ สัญญาณ 3G ครอบคลุมมากกว่า 90% ของประเทศ และฟรีไวไฟหาได้ทั่วไป ช่องทางการสื่อสารของคนในท้องถิ่นต่างจังหวัด จึงอาศัยสื่อโซเชียล กรุ๊ปไลน์ กรุ๊ปเฟซบุ๊ก เพจข่าวออนไลน์ของท้องถิ่นที่ตนเองอยู่ โดยเฉพาะข่าวจากกลุ่มกู้ภัยและตำรวจในพื้นที่ ช่วยเป็นกระบอกเสียงเพิ่มความรับรู้และส่งข่าวสารหากัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างสัตว์เลี้ยงใครหาย ร้านอาหารที่ไหนเปิดใหม่อร่อย โปรโมชันลดราคาของร้านค้าท้องถิ่น จนถึงเรื่องใหญ่อย่างฝนตกหนัก พายุเข้า น้ำท่วม เขื่อนน้ำล้น แจ้งเตือนอาชญากรรมและคดีอุกฉกรรจ์ให้ระมัดระวังและแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ได้อย่างทันท่วงที
ตัวอย่างในช่วงพายุเบบินคาทำให้เกิดฝนตกหนักรุนแรงในกลางเดือนที่ผ่านมา ภาพข่าวความเสียหายที่ปรากฏในสื่อหลักช่วงแรก ก็มาจากสื่อโซเชียลชุมชนเหล่านี้ซึ่งเร็วกว่าการส่งผู้สื่อข่าวไปทำข่าว การแจ้งเตือนของหน่วยงานที่รับผิดชอบก็รวดเร็วทำให้ประชาชนรับมือน้ำท่วมน้ำป่าและแม่น้ำล้นตลิ่งได้ทันเหตุการณ์
โซเชียลในท้องถิ่นเพิ่มความรวดเร็วในการสื่อสารแจ้งข่าวและติดตามปัญหาท้องถิ่น เป็นปากเสียงร้องเรียนก่อนที่จะกระจายไปถึงสื่อใหญ่ รวมถึงเป็นช่องทางที่สื่อหลักจะนำเอาภาพข่าวและเรื่องราวไปสืบเสาะนำเสนอต่อเนื่องหากมีคุณค่าความเป็นข่าวน่าสนใจในวงกว้างมากพอ หรือเป็นไวรัลกระจายทั่วโซเชียลระดับประเทศหรืออาจถึงระดับโลก
สื่อโซเชียลชุมชนเหล่านี้ยังเป็นทางออกในการวิพากษ์วิจารณ์ การชี้เป้าปัญหา แสดงความไม่พอใจ โดยที่ยังไม่ถูกรบกวนจับตาเอาผิดมากนัก ยกเว้นในกรณีที่ผู้วิจารณ์เป็นที่สนใจแพร่หลายหรือเป็นขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม กระทบกระเทือนถึงผู้มีอำนาจจริงจัง
นอกจากนี้ สื่อโซเชียลชุมชนยังใช้ภาษาที่เป็นกันเอง ภาษาถิ่น มีอารมณ์ร่วม ทำหน้าที่เป็นชุมชนเสมือนไม่ต่างจากร้านกาแฟหน้าอำเภอ หรือร้านเสริมสวยหลังตลาดที่เป็นแหล่งรวมข่าวสารบ้านเมืองในท้องถิ่นเมื่อครั้งอดีต เพราะคนในกลุ่มล้วนเป็นคนที่พบเจอหน้ากันเป็นประจำ ต่างจากโซเชียลขนาดใหญ่ระดับประเทศที่ไม่รู้จักหน้าตาหรือเรื่องส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม โซเชียลกลุ่มท้องถิ่นดังกล่าวมาแล้วก็มีโอกาสเป็นแหล่งปล่อยข่าวลือข่าวลวง เผยแพร่ข่าวปลอมเรื่องเท็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มไลน์ที่ผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นบุคคลวัยกลางคนขึ้นไปถึงผู้สูงอายุที่เพิ่งหัดเล่นอินเทอร์เน็ต งานศึกษาของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) พบว่า ผู้ที่ถูกหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตจนเกิดความเสียหายส่วนมากคือผู้อาวุโสอายุ 50 ปี ขึ้นไป และเมื่อผู้สูงอายุถูกหลอกลวงด้วยสื่อทางโซเชียล ก็มักเกิดความเสียหายมูลค่าสูงเพราะมีทรัพย์สินและอำนาจหน้าที่รับผิดชอบสั่งการในระดับสูงตามไปด้วย
เรื่องใหญ่ที่ถูกหลอกลวงกันบ่อยที่สุดก็เห็นจะไม่พ้นเรื่องสุขภาพ ทั้งยา อาหารเสริม สมุนไพรเคล็ดลับต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ผู้ใช้งานเองจึงพึงระมัดระวังและกลั่นกรองให้รอบคอบ รวมถึงดูแลผู้อาวุโสในบ้านของตัวเองให้ปลอดภัยพ้นจากข่าวสารหลอกลวง
รูปแบบของการสื่อสาร การแจ้งข่าว ตลอดจนการทำสื่อที่ต้องการเข้าถึงพื้นที่ท้องถิ่นต่างจังหวัด จึงต้องเข้าใจธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปในการรับรู้และใช้งานสื่อที่เปลี่ยนไป ใช้สื่อโซเชียลชุมชนเพื่อต่อยอดหาข้อมูลในสิ่งที่สื่อส่วนกลางเข้าไม่ถึงมากกว่าที่จะยกไปนำเสนอหากินทื่อๆ รวมถึงนำเสนอข่าวสารที่สามารถส่งต่อเข้าถึงอารมณ์วัฒนธรรมตามท้องถิ่นต่างๆ โดยไม่ผูกติดเพียงแค่กับสำเนียงและความสนใจของส่วนกลางในกรุงเทพมหานคร