ไม่พบผลการค้นหา
ไฟแนนเชียลไทมส์สำรวจพบคนอีสานเบื่อการเมืองใต้รัฐบาลทหาร หวังการเมืองดีขึ้นหลังพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง โพลชี้คะแนนนิยมพท.ยังคงนำโด่งปชป.

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียลไทมส์ (เอฟที) เผยแพร่ผลสำรวจทัศนคติผู้บริโภคชาวไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี

สื่อสิ่งพิมพ์แนวธุรกิจ วางจำหน่ายทั่วโลก มีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ฉบับนี้ รายงานในวันจันทร์ที่ 22 มกราคม ว่า หน่วยวิจัยของเอฟที คือ FT Confidential Research พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเบื่อหน่ายการเมืองภายใต้คณะรัฐประหาร ซึ่งโค่นรัฐบาลพลเรือนที่คนส่วนใหญ่ในภาคอีสานเทคะแนนเลือก พวกเขาบอกว่า รัฐบาลทหารไม่ได้ทำอะไรมากนักที่จะช่วยเหลือเกษตรกรและคนชนบท

22-1-2561 14-31-57.jpg


ผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคชาวอีสานจำนวนมาก (39 %) มองว่า เวลานี้ การเมืองแย่ คนที่เห็นว่า บรรยากาศทางการเมืองตอนนี้ดี มีน้อยกว่า (25 %)

ขณะเดียวกัน ดัชนีความรู้สึกนึกคิดทางการเมือง (Political Sentiment Index) ซึ่งสำรวจผู้บริโภคชาวไทยเป็นรายไตรมาส จำนวน 1,000 คน พบว่า คนอีสานยังคงมองบรรยากาศทางการเมืองภายใต้รัฐบาลทหารในทางลบมากกว่าคนภาคอื่นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลเมื่อไตรมาสที่สี่ของปี 2560 พบว่า ความรู้สึกในทางลบได้กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ดัชนีขยับขึ้นมาที่ระดับ 43.4 แต่ถึงกระนั้นก็ยังต่ำกว่าความรู้สึกนึกคิดของคนทั้งประเทศโดยเฉลี่ย ซึ่งอยู่ที่ระดับ 49.2

ทั้งนี้ หากค่าดัชนีสูงกว่าระดับ 50 แปลว่า คนมีความรู้สึกในทางดี ถ้าต่ำกว่า 50 แปลว่า คนมีความรู้สึกในทางไม่ดี

เมื่อถามว่า ท่านคิดว่าสภาพการณ์ทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ในปีหน้า คนอีสานกว่าหนึ่งในสามเชื่อว่า ในปี 2561 จะดีขึ้น คนที่ตอบว่าจะแย่ลงมีแค่หนึ่งในห้า

เหตุที่ผลสำรวจเป็นเช่นนี้เพราะคนอีสานส่วนใหญ่เชื่อว่า หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า สภาพการณ์จะเปลี่ยนไปในทางดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล

รายงานบอกว่า ภาคอีสานของไทยเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร นโยบายหลายอย่างของนายทักษิณส่งผลอย่างสำคัญต่อฐานะความเป็นอยู่ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ความสำเร็จทางการเมืองของนายทักษิณสะท้อนให้เห็นสภาพการณ์ด้านประชากร โดยเฉพาะในเรื่องรายได้

ผลสำรวจพบว่า คนอีสานที่เลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่ากลุ่มคนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ คนกลุ่มที่มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 30,000 บาทจะนิยมพรรคของนายทักษิณ คนอีสานที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทจะชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามแล้ว หน่วยวิจัยของเอฟทียังลงพื้นที่สัมภาษณ์ประชาชนด้วย พบว่า ทั้งผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและคนที่ต่อต้านซึ่งมีอยู่เล็กน้อย ต่างคาดว่า ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าคงไม่แตกต่างจากครั้งหลังสุด

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบางรายซึ่งชมชอบพรรคประชาธิปัตย์เป็นการส่วนตัว แสดงความมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยยังมีคะแนนนิยมหนาแน่นในภาคอีสาน โดยคาดว่าจะกวาดที่นั่งส.ส.ในเขตภาคเหนือและภาคอีสานในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ผู้ตอบที่บอกว่า ครั้งหน้าจะเลือกเพื่อไทย มีสัดส่วนสูงกว่าผู้ตอบที่บอกว่าจะเลือกประชาธิปัตย์เป็นอย่างมาก คนที่จะเลือกเพื่อไทยหรือพรรคที่เกี่ยวข้อง มี 32.4 % ขณะคนที่จะเลือกประชาธิปัตย์มี 10.4 %

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยของเอฟทีเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาชิ้นนี้ พบว่า กรณีรัฐบาลทหารให้คำมั่นที่จะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2560 นั้น คนอีสานที่เชื่อในคำสัญญาดังกล่าวมีแค่ 36 % ขณะคนอีสาน 29 % มองว่าการเลือกตั้งอาจล่าช้าไปจนถึงปี 2563 หรือหลังจากนั้น ข้อค้นพบนี้สะท้อนว่าคนอีสานแคลงใจในรัฐบาลทหารมากกว่าคนในภูมิภาคอื่นๆ.


ที่มา: Financial Times

ภาพ: AFP