กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียปี 2561 ลดลงเกือบร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต แนะประชาชนระวังอย่าให้ถูกยุงกัด พร้อมชื่นชมผู้จัดละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่ให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุข และการป้องกัน ควบคุมโรค ทั้งยังสอดแทรกความรู้ที่ดีแก่ประชาชน
วันนี้ (22 มีนาคม 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาทำการค้าขายและตั้งถิ่นฐานจำนวนมาก ทำให้เป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ ซึ่งการเดินทางระหว่างประเทศสามารถนำโรคติดต่อต่างๆที่ไม่เคยพบแพร่กระจายเข้ามาได้ โดยโรคระบาดหรือโรคติดต่อในอดีตที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศ อาทิ โรคไข้ทรพิษ (ไข้ฝีดาษ) โรคบิด และไข้มาลาเรีย (โรคไข้จับสั่น)
ซึ่งในส่วนของไข้มาลาเรียนั้น พบว่ามีบันทึกในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งเป็นบันทึกของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ได้เดินทางมาประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยในบันทึกตอนหนึ่งในจดหมายเหตุดังกล่าว บ่งชี้ว่าโรคไข้จับสั่นเป็นโรคประจำถิ่นที่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมในสมัยนั้น และชาวกรุงศรีอยุธยารู้จักคุ้นชินกันเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าโรคไข้มาลาเรียอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน
ทั้งนี้ จากการสืบค้นบันทึกเกี่ยวกับการจัดการกับปัญหาโรคติดต่อในอดีต พบว่าในกรณีโรคไข้มาลาเรีย มีหลักฐานว่าเริ่มมีการใช้เปลือกต้นซิงโคนา หรือ "ยาควินิน" มาใช้ในการรักษาโรคไข้มาลาเรียตามแบบที่แพร่หลายอยู่ในยุโรป มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ส่วนมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้มาลาเรีย นั้น ยังไม่ปรากฏบันทึกหลักฐานที่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่า ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยาเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ที่มาจากทั้งเอเชียและยุโรป จึงมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเริ่มมีการนำวัฒนธรรมการนอนในมุ้งเพื่อกันยุงแล้วตั้งแต่สมัยนั้น
“การที่สื่อบันเทิงโดยเฉพาะวงการละครได้ปลุกกระแสสังคมในเรื่องการดูแลสุขภาพและการป้องกันควบคมโรคนั้นนับเป็นเรื่องที่ดี จึงขอชื่นชมทางผู้เขียนบทละครและทีมงานผู้จัดละคร เรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่ให้ความสำคัญด้านงานสาธารณสุขและ การป้องกัน ควบคุมโรค ซึ่งมีความสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชน รวมถึงสอดแทรกสาระความรู้ต่างๆที่ดีแก่ประชาชน” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว
ปัจจุบัน สถานการณ์ไข้มาลาเรียในประเทศไทย นั้น ลดลงอย่างมาก โดยในปี 2561 พบผู้ป่วยจำนวนเพียง 856 คน ซึ่งลดลงเกือบร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงพบตามแนวชายแดนที่มีการเคลื่อนย้ายของประชาชนข้ามแดน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคยังคงเดินหน้าอย่างเข้มข้นในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศในปี 2567
โรคไข้มาลาเรียเกิดจากยุงก้นปล่องที่อาศัยตามป่าหรือลำธาร วิธีการป้องกัน คือ 1. นอนในมุ้งชุบน้ำยาไล่ยุง 2. สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาวปกปิด เพื่อป้องกันยุงกัด 3. ทายากันยุง และ 4. จุดยากันยุง หากประชาชนมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ประกอบกับมีประวัติถูกยุงก้นปล่องกัด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไปทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422