ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนและภาคประชาสังคม 130 องค์กร เตรียมยื่นคัดค้านร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ… ชี้ชัดลิดรอนสิทธิผู้บริโภค อีกทั้งยังขัดรัฐธรรมนูญ

นางสาวชนัญชิดา ตัณฑะผลิน เลขานุการคณะอนุกรรมด้านบริการสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และนายพชร แกล้วกล้า ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม 130 องค์กร ประกาศว่าจะเข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ในวันพรุ่งนี้ (13 มี.ค.) เวลา 09.00 น. เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ. …

เหตุผลในการคัดค้านเนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้มีความล้าหลัง ไม่เป็นธรรม ขัดรัฐธรรมนูญ ลิดรอนสิทธิผู้บริโภค โดยย้ำว่าที่ผ่านมา สามารถใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ในการแก้ไขปัญหาเมื่อคดีถึงศาลได้อยู่แล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับเสนอให้รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ. ... โดยระบุว่าเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากคดีทั่วไป การพิจารณาคดีทางการแพทย์จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความรู้และประสบการณ์มาให้ความเห็นประกอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงควรมีระบบการไกล่เกลี่ยและการพิจารณาคดีทางการแพทย์เป็นการเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม คบอช.และเครือข่ายภาคประชาชน 130 องค์กร มีความเห็นตรงกันว่า 'ไม่เห็นด้วย' และขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ฯ ฉบับนี้ โดยเฉพาะมาตรา 46 ซึ่งจะมีผลทำให้คดีทางการแพทย์และบริการสาธารณสุขไม่เป็นคดีผู้บริโภคอีกต่อไป เข้าข่ายลิดรอนสิทธิผู้บริโภค ตามด้วยมาตรา 27 เรื่องการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และมาตรา 68 วรรคแรก ทำให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้บริโภคในคดีทางการแพทย์มีลักษณะสองมาตรฐาน แตกต่างจากคดีผู้บริโภคประเภทอื่น 

นอกจากนี้ คอบช.และเครือข่ายภาคประชาชน 130 องค์กรพบว่า คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้ 'ไม่เป็นกลาง' เนื่องจากมีสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ไว้มากถึง 6 คน ส่งผลต่อความเป็นกลางและอาจไม่เป็นธรรมในการพิจารณาคดี รวมถึงเป็นการออกกฎหมายที่ซ้ำเติมคนไข้หรือผู้ที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่ได้มีบทบัญญัติการกำหนดภาระการพิสูจน์ให้ชัดเจน จึงนับเป็นเรื่องที่ยากและเป็นภาระของผู้ป่วยหรือผู้บริโภคในการพิสูจน์อีกด้วย

จากปัญหาที่เกิดขึ้น เครือข่ายภาคประชาชน 130 องค์กร ขอให้กระทรวงสาธารณสุขหยุดการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้โดยทันที และขอให้ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. … ที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการลดการฟ้องคดีทางการแพทย์ เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งผู้รับและให้ผู้บริการสาธารณสุข และได้รับความเห็นชอบจากหลายหน่วยงานแล้วแทน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายได้มากกว่า