ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมมลพิษ แนะ 14 จังหวัดภาคใต้ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ให้จัดเก็บสารเคมี วัตถุอันตรายที่ใช้ในเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบ้านเรือน ให้อยู่ในที่ปลอดภัยและพ้นน้ำ ป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำในช่วงหน้าฝนและช่วงน้ำหลาก

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ. ได้ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม 2561 บริเวณภาคใต้จะได้รับอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ส่งผลให้มีฝนตกชุกหนาแน่น และอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคใต้ ซึ่งจังหวัดเสี่ยงภัยในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี รวมถึงเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ต้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง   

นายประลอง กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมส่งผลกระทบถึงพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว หากมีการปนเปื้อนมลพิษก็ยิ่งส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้น ในช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นติดต่อกันหลายวัน หรือในช่วงที่มีน้ำไหลหลาก คพ. มีความห่วงใยว่าอาจเกิดการชะล้างสิ่งปนเปื้อนมลพิษต่างๆ จากผืนดินลงสู่แหล่งน้ำ จากน้ำเสียตกค้างอยู่ในท่อระบายน้ำเสีย น้ำชะจากกองขยะ พื้นที่เกษตร กองวัสดุสารเคมีและวัตถุอันตรายต่างๆ ส่งผลให้คุณภาพน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เช่น ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง ความขุ่นและตะกอนแขวนลอยเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว การปนเปื้อนของสารเคมี กระทบต่อสัตว์น้ำ ระบบนิเวศ และการนำมาใช้ประโยชน์

DSC_6439.JPG

"ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในพื้นที่เสี่ยงภัยในการป้องกันปัญหาคุณภาพน้ำในช่วงหน้าฝนและช่วงน้ำหลาก จัดการเก็บสารเคมี วัตถุอันตรายที่ใช้ในเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบ้านเรือน ให้อยู่ในที่ปลอดภัยและพ้นน้ำ ดูแลบ่อเก็บกักน้ำเสีย/บ่อบำบัดน้ำเสีย และสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย โดยเสริมคันดินให้มั่นคงแข็งแรง ป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลของน้ำเสียและสารอันตรายลงสู่แหล่งน้ำหรือออกสู่สิ่งแวดล้อม" นายประลอง กล่าว

DSC_6354.JPG

สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ควรเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาขยะมูลฝอยและน้ำเสียที่เกิดจากอุทกภัย ได้แก่

1. การป้องกันระบบกำจัดขยะมูลฝอย โดยสำรวจพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อจัดทำคันดินของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย และจัดหาสถานที่พักขยะสำรองหรือการประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการกำจัดขยะชั่วคราว 2. การจัดหาถุงดำสำหรับครัวเรือนเพื่อรวบรวมขยะมูลฝอย และภาชนะรองรับขยะมูลฝอยตามจุดต่างๆ เพื่อง่ายต่อการเก็บรวบรวมสำหรับรอการนำไปกำจัด

3. ควรมีการประเมินความเสี่ยงและจัดทำระบบป้องกันน้ำเข้าท่วมอาคารสถานีสูบน้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย

4. เตรียมเครื่องมือสำหรับการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองพร้อมน้ำมันเชื้อเพลิง อะไหล่สำรองสำหรับในกรณีฉุกเฉิน สารเคมีหรือสารชีวภาพสำหรับบรรเทากลิ่นหรือกำจัดเชื้อโรคในน้ำเสีย

และ 5. ควรแจ้งแหล่งกำเนิดมลพิษและสถานประกอบการในพื้นที่เพื่อรับมือกับสถานการณ์อุทกภัย ป้องกันของเสียและน้ำเสียไม่ให้ระบายออกสู่แหล่งน้ำ ทั้งนี้ หากพบปัญหาน้ำเสียหรือสารเคมีรั่วไหลสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินมายัง สายด่วน 1650