สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และองค์กรเครือข่าย แถลงข่าวเรื่องการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการในการปล่อยสัตว์ในวัด ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ ได้ยื่นหนังสือต่อ พศ. เพื่อขอมติมหาเถระสมาคม (มส.) ในการกำหนดเขตพื้นที่วัดเป็นเขตห้ามปล่อยสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งในการประชุม มส.มีมติรับทราบเรื่องดังกล่าว ประกอบไปด้วย
1.ให้กำหนดพื้นที่วัดเป็นเขตห้ามเจ้าของสัตว์ นำสัตว์มาปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร
2.ให้กำหนดเขตพื้นที่วัดเป็นเขตห้ามซื้อขาย หรือทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าชีวิตสัตว์ภายในเขตวัด
3.ให้วัดต่างๆถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิการสัตว์ พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยเคร่งครัด
โดยเนื้อหาสาระที่เป็นแนวทางและวิธีการในการดำเนินการตามมติ มส. จะประกอบไปด้วย การรณรงค์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปล่อยสัตว์ในวัด ผ่านภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือ เรื่อง "ปล่อยนก บุญหรือบาป" และเรื่อง "รักไม่ปล่อย"
การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนตามมติ มส. และมาตรการทางกฎหมายในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตาม พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับ
พร้อมกับการเสนอเพิ่มเติมนิยามสัตว์ที่อาศัยตามธรรมชาติ ตามมาตรา 3 พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ ให้ครอบคลุมสัตว์ป่า เช่น นก เต่า ฯลฯ และการเสนอเพิ่มเติมให้ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการพื้นที่ความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์ การขึ้นทะเบียนสัตว์ และการดูแลสัตว์จรจัด
นายสิปป์บวร แก้วงาม ผอ.สำนักงานเลขาธิการ มส. ระบุว่า มีวัดจำนวนมากที่ประสบปัญหาจากการนำสัตว์มาปล่อยในวัด ซึ่งมีทั้งวัดในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด อย่างไรก็ตามจากปัจจุบันที่มีวัดกว่า 40,000 วัด พระสงฆ์กว่า 200,000 รูป จะใช้โอกาสนี้ให้พระสงฆ์เป็นกระบอกเสียงทำความเข้าใจกับประชาชน
รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ในฐานะอุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัญหาการปล่อยสัตว์ในวัดเกิดขึ้นจากคนรุ่นเก่า จึงมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่ใช้พลังในการดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งโรงเรียนวัดจะเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ โดยดำเนินการผ่านโครงการลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์
สำหรับโทษตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ มาตรา 32 หากเจ้าของไม่ปฏิบัติตาม หรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท และตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ หากกระทำผิดตามมาตรา 16, 19, 20 ประกอบมาตรา 47 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :