วานนี้ (16 พ.ย.) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานสัมมนาไทยแลนด์ 2018 ว่าปี 2561 รัฐบาลจะเร่งดำเนินนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ โดยประสานหลายหน่วยงานเพื่อดำเนินนโยบายอย่างบูรณาการ เชื่อว่าปัญหาความยากจนจะหมดไป
ก่อนหน้านั้นนายสมชาย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการช่วยเหลือคนจน ที่มาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ในเฟสที่2 ด้วยการดึงระบบ Big Data เข้ามาเพื่อช่วยเหลือจัดสวัสดิการคนจนในเดือนธันวาคมนี้
รวมไปถึงนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โชว์ไอเดียเก๋ ด้วยการให้ คนจน-ร้านค้าธงฟ้าที่มาลงทะเบียนกับรัฐบาล ลุ้นโชคจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แจกรางวัลละ 1 ล้านบาททุกเดือน เสมือน "หวยคนจน"
แต่สิ่งที่ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดก็คือ การช่วยเหลือผู้ยากไร้ในยุครัฐบาล คสช.นั้นเป็นไปอย่างตรงจุดจริงหรือไม่? เพราะถึงแม้จะมีการจัดสวัสดิการเฉพาะผู้ยากไร้จริง แต่เป็นการจัดสวัสดิการแบบไม่ตรงจุด ซึ่งเป็นการจัดสวัสดิการแบบที่หากไม่ใช้ก็จะเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เช่น สวัสดิการค่าเดินทาง เป็นต้น
นายคมสันต์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่าปัญหาของร้านธงฟ้าประชารัฐนั้นอาจเข้าข่ายเอื้อนายทุน เพราะร้านที่จะติดเครื่องที่ใช้บัตรได้เป็นร้านที่ต้องไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ร้านโชห่วยทั่วไปขนาดย่อยไม่สามารถให้บริการได้ ซึ่งในรอบที่ผ่านมาการโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรงดูจะสามารถตอบโจทย์ผู้มีรายได้น้อยได้ดีกว่า
ด้านนายชัยพงษ์ สำเนียง นักวิชาการนโยบายสาธารณะ สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การออกแบบนโยบายมีหลักๆ 2 แบบ แบบแนวนอนคือสิทธิแบบถ้วนหน้า เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่ใครๆก็เข้าถึงได้ และแบบแนวตั้งที่เจาะจงไปยังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น นโยบายช่วยชาวนา เป็นต้น แต่ยังไม่สามารถทำความเข้าใจกับนโยบายบัตรคนจนได้ว่าต้องการมุ่งเน้นสิ่งใดกันแน่เหมือนเป็นการออกนโยบายระยะสั้นที่คิดว่าจะได้ในระยะยาว แต่สิ่งที่รัฐบาลล้มเหลวกลับเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในการจัดเก็บภาษีคนรวยเช่น ภาษีที่ดิน และภาษีมรดก ที่จะลดความเหลื่อมล้ำและนำเงินายได้มาทำสวัสดิการให้กับประชาชน
จึงเกิดการตั้งคำถามว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อผู้ยากไร้ของคสช. ที่กล่าวว่าพยายามจะเลี่ยงแนวทาง "ประชานิยม" นั้น แท้จริงกลับไปสู่การดำเนินนโยบายแบบ "สังคมสงเคราะห์" เพื่อนายทุนเช่นกลุ่มประชารัฐ ที่เข้ามามีส่วนในการกำหนดทิศทางนโยบายหรือไม่ แล้วคนไทยจะหายจากความยากไร้ในปี 2561 ได้จริงหรือ?