เว็บไซต์ The Diplomat สื่อด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานว่าไทยและอิสราเอลขยายความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงอย่างต่อเนื่องช่วงหลายปีที่ผ่านมา และล่าสุด ตัวแทนของรัฐบาลไทยลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดหาปืนใหญ่แบบอัตตาจรล้อยาง (ATMG) ขนาด 155 มม. ของบริษัทด้านอาวุธยุทโธปกรณ์อิสราเอล 'เอลบิต ซิสเต็มส์' ช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
เดอะดิโพลแมตรายงานว่าในปี 2555 กองทัพไทยและอิสราเอลเห็นชอบข้อตกลงด้านการส่งเสริมความร่วมมือทางทหารและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีความมั่นคงร่วมกัน โดยเริ่มจากโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนปืนใหญ่อัตตาจร ATMOS ร่วมกับหน่วยงานไทย
ขณะที่ เว็บไซต์ Shephard Media สื่อด้านอุตสาหกรรมความมั่นคง เผยรายละเอียดการลงนามจัดซื้อจัดหาปืนใหญ่อัตตาจรล้อยางของอิสราเอล โดยระบุว่า พล.ร.อ. จุมพล ลุมพิกานนท์ รองปลัดกระทรวงกลาโหมของไทย เป็นผู้ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อจัดซื้อปืนใหญ่ฯ จำนวน 6 กระบอก คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 865 ล้านบาท หรือ 26.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
วัตถุประสงค์ในการจัดซื้อจัดหาปืนใหญ่อัตตาจรล้อยาง จะนำไปใช้ในกิจการของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ซึ่งคาดว่าจะนำไปประจำการเพื่อรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดนฝั่งตะวันออกของไทย ติดกับพรมแดนกัมพูชา โดยจะต้องดำเนินการส่งมอบให้ได้ภายในเวลา 28 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา เพื่อนำไปทดแทนปืนใหญ่อัตตาจรเดิมที่มีอยู่ 18 กระบอกและใช้มานานกว่า 30 ปี
ภาพรวมอุตสาหกรรมความมั่นคงไทยเติบโตต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การจัดซื้อจัดหาและพัฒนาปืนใหญ่อัตตาจรล้อยางร่วมกับบริษัทเอลบิตฯ จะเป็นการนำมาประกอบและสร้างที่ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธศูนย์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร (ศอว.ศอพท.) เพราะกองทัพไทยมีความต้องการปืนใหญ่ดังกล่าวอีกราว 36 กระบอก ซึ่งหากมีการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการประกอบสร้างและซ่อมบำรุงระบบจากทางอิสราเอล จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้นด้วย
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ผลสำรวจสถานการณ์ด้านการลงทุนและสนับสนุนการส่งออกในประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ ทั่วโลก มีการประเมินภาพรวมของอุตสาหกรรมความมั่นคงและป้องกันประเทศในไทยว่ายังมีโอกาสขยายตัว เพราะกระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วงหลายปีที่ผ่านมา
งบประมาณของกระทรวงกลาโหมไทยเมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นร้อยละ 1.42 ของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศ คิดเป็นเงินกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.9 แสนล้านบาท โดยร้อยละ 48 เป็นของกองทัพบก ร้อยละ 19 เป็นของกองทัพเรือ ร้อยละ 18 เป็นของกองทัพอากาศ
รายงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า งบประมาณด้านการป้องกันประเทศของไทยมุ่งเน้นที่การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การป้องกันแนวพรมแดน และการเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพเพื่อรักษาบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: