สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ปริมาณน้ำในคลองวังแดง บ้านวังแดง ตำบลทับคล้อ อำทับคล้อ ซึ่งเป็นคลองสาขา รับน้ำป่าจากบนเทือกเขาเพชรบูรณ์ ที่ไหลมาทางอำวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ยังคงมีปริมาณมากจากฝนที่ตกสะสมบนเทือกเขา สีน้ำแดง ขุ่นข้น ไหลแรงจากความลาดชันของคลองที่ระบายน้ำลงสู่พื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยมวลน้ำที่มีปริมาณมากจะไหลตามเส้นทางคลองสาขา ที่มีเส้นทางผ่านอำเภอทับคล้อเพื่อระบายลงสู่แม่น้ำน่านที่อยู่ในเขตอำเภอตะพานหิน
ขณะที่ส่วนงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายของจังหวัดพิจิตร ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดพิจิตร ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประกาศแจ้งเตือนประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ รับน้ำ ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เพื่อป้องกันความเสียหายหากจำนวนน้ำมากจนอาจจะส่งผลกระทบได้ ด้านสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดพิจิตรคาดการณ์จังหวัดพิจิตรยังมีฝนตกชุกต่อเนื่องปริมาณฝนยังคงมีร้อยละ 60 พื้นที่ตลอดสัปดาห์นี้
ขณะที่ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวใน สรุปสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ สรุปว่า
• วันที่ 23-28 ส.ค. 61 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมต่อเนื่องอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มได้
• แม่น้ำในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีระดับน้ำน้อย ภาคตะวันตก ภาคกลางและภาคใต้มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก โดยต้องเฝ้าระวัง แม่น้ำเพชรบุรี ที่ยังคงมีระดับสูงแต่เริ่มทรงตัว เนื่องจากปริมาณน้ำล้นอาคารระบายน้ำของเขื่อนแก่งกระจานลดลง แม่น้ำยมตอนล่างบริเวณสุโขทัย ที่ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น
• แม่น้ำโขง : มวลน้ำจากฝนตกหนักไหลผ่านบริเวณ จ.หนองคายแล้ว มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งที่ จ.นครพนม และต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.มุกดาหาร และ อุบลราชธานี ที่จะมีระดับน้ำสูงขึ้น
สถานการณ์ฝน
• วันที่ 23 ส.ค. 61 ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 13 จังหวัดภาคเหนือ น่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล
• 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (05.00 น.) ไทยยังคงมีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ (น่าน 120.0 มม. กำแพงเพชร 95.0 มม. เชียงราย 86.5 มม. อุตรดิตถ์ 43.0 มม. พะเยา 37.4 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อุบลราชธานี 77.0 มม. บึงกาฬ 52.6 มม.) ภาคตะวันตก (กาญจนบุรี 37.6 มม.) และ ภาคใต้ (พังงา 212.5 มม. ภูเก็ต 170.5 มม. สตูล 133.0 มม. นราธิวาส 35.2 มม.)
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มี 5 แห่ง ดังนี้
1. เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (06.00 น./ชป.) ปริมาณน้ำ 767 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 773) คิดเป็น 108% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1.24 ม. (เมื่อวาน 1.37) ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 13.41 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 19.41) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 19.75 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 22.75) ปริมาณการระบายน้ำลดลง
สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี (06.00 น.) บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง (สถานี B.3A) 0.32 ม. แนวโน้มลดลง และที่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี สูงกว่าระดับตลิ่ง (สถานี B.15) 0.51 ม. แนวโน้มทรงตัว ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรียังคงได้รับผลกระทบน้ำท่วม ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรี มีน้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่นอกคันกั้นน้ำเทศบาลที่มีระดับต่ำกว่าตลิ่ง
การบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งระบายน้ำผ่านระบบชลประทานและแม่น้ำเพชรบุรี โดยประสานจังหวัดและพื้นที่เพื่อแจ้งเตือน
การช่วยเหลือ และเร่งระบายน้ำ หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเร่งระบายน้ำเอ่อล้นในชุมชน สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำท่วมขัง รถสูบส่งน้ำระยะไกล เรือยนต์ผลักดันน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถบรรทุกขนย้ายผู้ประสบภัย เรือพาย/ท้องแบน
2. เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร
สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (06.00 น./ชป.) ปริมาณน้ำ 543 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 534) คิดเป็น 104% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 15.65 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 12.55) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 6.16 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 5.65)
สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
การบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งพร่องน้ำ ให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนโดยประสานจังหวัด และพื้นที่
การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ และนครพนม
3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี
สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (24.00 น./21ส.ค.61/กฟผ.) มีปริมาณน้ำ 8,032 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 8,025) คิดเป็น 91% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 50.10 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 53.79) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 41.93 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 41.95)
สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ กระทบพื้นที่รีสอร์ทที่สร้างอยู่ในแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแม่กลอง จ.กาญจนบุรี แต่ยังไม่สูงกว่าตลิ่ง
การบริหารจัดการน้ำ วันนี้จะเริ่มระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 53 ล้าน ลบ.ม.
การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ
4. เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก
สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (06.00 น./ชป.) ปริมาณน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 194) คิดเป็น 87% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 8.46 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 7.19) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 7.61 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 6.48) น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 0.69 ม. (เมื่อวาน 0.63 ม.)
การบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งพร่องน้ำ ให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนโดยประสานจังหวัด และพื้นที่
5. เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (06.00 น./ชป.) ปริมาณน้ำ 332 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 335) คิดเป็น 85% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 8.14 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 11.19) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 11.21 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 11.19)
การบริหารจัดการ ระบายน้ำลงแม่น้ำปราณบุรีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จะค่อยๆเพิ่มอัตราการระบายโดยติดตามดูผลกระทบท้ายน้ำและแจ้งจังหวัด อำเภอ ให้กระจายข่าวก่อนเพิ่มอัตราการระบาย