ละครพีเรียดบ้านเรา มีสองอย่างคือ ทำมาแล้วโดนด่า กับทำมาแล้วฮิต ที่โดนด่าส่วนมากก็มาจากความไม่สมเหตุสมผล ดัดแปลงจนเป็นละครมโนล้วน ส่วนที่โดนชมแฟนๆ มักให้ค่ากับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ละเลย จะมีที่ชมเพราะ "ตลก" ก็จะมีเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" ที่กำลังดังนี่แหละ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน คุยต่อยอดจากละครเป็นความรู้ต่างๆ ตั้งแต่ "ออเจ้า" คืออะไร? "เวจ" เป็นแบบไหน? ฯลฯ
สัปดาห์นี้ละครดำเนินเรื่องไปได้ระดับนึง ที่น่าสนใจสำหรับฉันคือ การที่บรรดาผู้ชายในเรื่องมักตำหนิติเตียนพฤติกรรมของสาวๆ ตั้งแต่คุณหมื่นที่ว่ากล่าวการะเกด เรื่องการโบกไม้โบกมือให้คนโน้นคนนี้ ไปจนถึง "มารี" หรือแม่มะลิ ที่โดนพ่อว่าหลังทำกิริยาตาเชื่อมเมื่อพบกับหมื่นสุนทรเทวา ชวนให้ค้นว่าจริงๆ แล้ว "จริตและกิริยาน่าชม" ของสาวกรุงศรีฯ ยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ เขาเป็นอย่างไรกันบ้าง
บันทึกของ "ลา ลูแบร์" บอกว่า นอกจากผ้านุ่งแล้ว ผู้หญิงก็ปล่อยตัวล่อนจ้อน เพราะไม่ได้สวมเสื้อชั้นในมัสลินเหมือนอย่างผู้ชาย มีแต่หญิงที่มีฐานะเท่านั้นที่ใช้สไบห่ม แต่อย่างไรก็ตาม ถึงจะเปลือยแต่ก็ใช่จะไม่มีความเขินอาย อย่างที่ทูตฝรั่งเศสบันทึกว่า
"...หญิงในประเทศนี้กลับเป็นชนชาติที่มีความตะขิดตะขวงใจเป็นอย่างยิ่งในโลก ที่จะเผยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายซึ่งธรรมเนียมกำหนดให้ปิดบังไว้ ออกให้ใครๆ เห็น พวกผู้หญิงซึ่งนั่งขดอยู่ในเรือเมื่อวันที่เอกอัครราชทูตพิเศษของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสแห่เจ้าพระนคร ยังรีบผินหลังให้ขบวนแห่เสีย ส่วนคนที่อยากเห็นเต็มแก่ก็เพียงแต่เหลียวมองข้ามไหล่มาดูเท่านั้น"
ลาร์ ลูแบร์ อยู่ในกรุงศรีฯ นานพอจะเตร็ดเตร่ไปดูชีวิตผู้คนในพระนคร เขาบันทึกว่า ประเพณีในสยามไม่อนุญาติให้หญิงสาวไปพูดคุยกับชายหนุ่ม ถ้าแม่จับได้ว่าลูกสาวแอบไปพูดจาวิสาสะละก็ จะโดนลงโทษรัวๆ
อ่านถึงตรงนี้อาจมองว่าการโบกไม้โบกมือทักทายผู้ชายพายเรือของการะเกดดูเป็นเรื่องน่าละอายจริงๆ แต่ความคิดคุณจะเปลี่ยนไปถ้าอ่านบันทึกของลา ลูแบร์ต่อ เพราะเขาเล่าว่าถึงจะไม่เจรจาพาที "แต่พวกลูกสาวก็มักจะลักลอบหลบหนีตามผู้ชายไปจนได้เมื่อสบโอกาส และข้อนี้มิใช่สิ่งสุดวิสัยที่จะหลบหนีออกไปได้ในตอนพลบค่ำ"
สรุปคือไม่คุยก็ได้ แต่หนีไปเลย...
หญิงสยามบ้างมีครอบครัวตั้งแต่วัย 12 ปี ทั้งนี้เป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของบิดามารดา และพวกเธอหย่าร้างมีสามีใหม่ได้เสมอ แต่ฝรั่งมังค่าไม่ใช่ตัวเลือกของพวกเธอ หรือแม้แต่จะอ้าปากเจรจาด้วยก็เป็นเรื่องยาก
"...หญิงสาวชาวสยามก็ทะนงตนมากพอที่จะไม่ยอมทอดเนื้อทอดตัวให้แก่คนต่างประเทศโดยง่าย หรืออย่างน้อยก็ไม่เจรจาวิสาสะด้วย หญิงชาวพะโค (มอญ) ที่อยู่ในสยามประเทศ ซึ่งตนเองก็เป็นคนต่างประเทศอยู่แล้ว ยังติดต่อกับคนต่างประเทศด้วยกันมากกว่า..."
ภาพการวิวาทะภาษาฝรั่งเศสระหว่างการะเกดกับฟอลคอน หลุยส์ สก็อต จึงอาจเป็นภาพที่แปลกประหลาดในกรุงศรีฯ ยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ
เราจะเห็นฉากหนึ่งของละคร คือตอนที่การะเกด แอบให้บ่าวพายเรือพาไปเที่ยววัดชัยวัฒนาราม ดูน่าสนุก แต่การออกจากบ้านไปเที่ยวเล่นในหมู่สาวๆ กรุงศรีฯ ก็มีเรื่องน่าสนใจเหมือนกัน
เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนไปอีกว่า ในสมัยสมเด็จพระรายณ์ฯ ชายชาวสยามยังต้องเข้าเดือนออกเดือน หรือการถูกเกณฑ์ไปทำงานราชการ จะขุดท่อ ขุดคลอง ทำกำแพงเมืองอะไรก็แล้วแต่ ดังนั้นแล้วการทำงานหาเลี้ยงครอบครัวจึงเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเต็มๆ การจะออกไปไหนมาไหนของผู้หญิงราษฎรทั่วไปจึงทำได้ เพราะมีปากท้องเป็นแรงขับ อย่างที่ลา ลูแบร์ บอกว่า
"...ผู้ชายส่วนมากก็ไม่รู้ที่จะทำงานอะไรให้เป็นล่ำเป็นสัน...ด้วยพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงใช้ให้พวกนี้ทำงานหลายอย่างต่างๆ กันแล้วแต่พระราชประสงค์...พวกภรรยานั้นไปไถนา ไปขายของหรือซื้อของที่ในเมือง..."
แต่ถ้าเป็นผู้หญิงอีกระดับ เช่น ภรรยาขุนน้ำขุนนางแล้วละก็ การออกไปไหนมาไหนโดยอิสระดูเป็นเรื่องต้องห้าม แต่กลับกันพวกเธอกลับเห็นเป็นเกียรติอีกด้วย โดย "สุจิตต์ วงษ์เทศ" เขียนไว้ในหนังสือ "อยุธยายศยิ่งฟ้า" ว่า การถูกกวดขันไม่ให้ไปไหนมาไหนโดยเสรีสร้างความรู้สึกเป็น "ผู้ดี" ถ้าถูกปล่อยปละก็จะพลอยคิดว่าถูกดูหมิ่นเสียด้วยซ้ำ
"ความรู้สึกอย่างนี้มีมาตั้งแต่การอบรมเลี้ยงดูตอนยังเด็กและวัยรุ่น กล่าวคือเด็กหญิงชาวบ้านต้องช่วยเหลือตนเองและช่วยแม่ทำงานทุกอย่าง แต่ลูกสาวขุนนางไม่ต้องทำการงานใดๆ..."