ไม่พบผลการค้นหา
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพครัวเรือนไทยฯ เดือน ก.ค. ปรับตัวลดลง ครัวเรือนกังวลภาระหนี้สิน ค่าใช้จ่าย ราคาสินค้าอาหารค่าสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น มอง 3 เดือนข้างหน้าสถานการณ์ยังน่าห่วง แม้ภาวะเศรษฐกิจจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง 'ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด' (KR-ECI) ประจำเดือน ก.ค. 2563 พบว่า มีดัชนีอยู่ที่ระดับ 35.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 36.0 ในเดือนมิ.ย. 2563 จากความกังวลของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สิน ค่าใช้จ่าย รวมถึงระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ 

แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 เพิ่มเติมในช่วงเดือน มิ.ย. 2563 ต่อเนื่องจากระยะที่ 1แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของครัวเรือนต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สิน แม้ทางการจะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง 

แต่ครัวเรือนยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาอาหารและค่าสาธารณูปโภค หลังราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นในเดือน ก.ค. 2563 จากอุปทานในประเทศที่ลดลงประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟฟ้าของภาครัฐสิ้นสุดลงในเดือน มิ.ย. 2563 สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. 2563 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.66 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2563 

ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 36.8 ในการสำรวจช่วงเดือน ก.ค. 2563 จากการสำรวจเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 37.4 เหตุจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นในทุกมิติการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค.-ต.ค. 2563) 

โดยส่วนหนึ่งจากกระแสความกังวลของครัวเรือนไทยต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศระลอกที่ 2 ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ค. 2563 (กรณีทหารอียิปต์) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องมุมมองของครัวเรือนไทยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังมีกระแสข่าวเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจ ร้อยละ 29.0 อยากให้ภาครัฐมีมาตรการสั่งปิดเฉพาะสถานที่ที่เกิดการแพร่ระบาดเท่านั้น หากพบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ 

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าแม้จะยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ ในปัจจุบันต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่เป็นระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นมุมมองของครัวเรือนไทยต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเองแม้จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ยังไม่กลับคืนสู่ระดับเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสฯ แม้ภาครัฐจะมีมาตรการผ่อนปรนสำหรับทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้วก็ตาม  

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 ยังเปราะบาง ขณะที่การฟื้นตัวของกำลังซื้อภายในประเทศยังเป็นไปอย่างจำกัด ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากภาวะการจ้างงานในประเทศ ท่ามกลางภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: