จากกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์สื่อว่านายกรัฐมนตรี ต้องมาจากการเลือกของ ส.ส.เท่านั้น จนถูกตีความว่านายอนุทิน ตัดสินใจยืนคนละขั้วกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าเป็นฝ่ายที่หวังให้ ส.ว. แต่งตั้ง มาช่วยโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ
นายอนุทิน กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า พรรคไม่ได้ "เท" ใคร แต่เรายืนยันในหลักการประชาธิปไตย โดยมองภาพรวมของประเทศชาติเป็นสำคัญ นอกจากนั้น การที่บางสื่อพาดหัวว่านายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เราหมายความว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกโดย ส.ส. ไม่ได้หมายความว่านายกฯ จะต้องเป็น ส.ส. ด้วย อาทิ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ถ้า ส.ส. เลือกท่านมา ตนก็ไม่มีปัญหา ตรงนี้ เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้
"ส.ว.ก็ควรทำหน้าที่ตรวจสอบของท่านไป แต่ไม่ควรมาเลือกนายกฯ เพราะมันเป็นหน้าที่ของ ส.ส.และถ้าให้ ส.ว.มาช่วย ส.ส. กลุ่มหนึ่ง เลือกนายกฯ ทั้งที่เป็น ส.ส.เสียงข้างน้อย แล้วจะบริหารประเทศกันอย่างไร ได้นายกฯ แต่ไปไม่รอด เราต้องคิดถึงอนาคต เลือกนายกฯ แล้วต้องทำงานได้ จึงต้องให้ ส.ส. เขาจัดตั้งกันเอง ใครรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่ง ก็ถือว่ามาจากเสียงปะชาชน ตนไม่อยากเห็นกรณีที่ ส.ส. เลือกได้แล้ว แต่ไปต่อไม่ได้ เพราะ ส.ว. ไม่อยากได้นายกฯคนนี้"
นายอนุทิน กล่าวว่า โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว พวกที่เชียร์ให้พรรคตัวแปรไปเป็นนายกฯ เองเลย ขอบอกว่าไม่กล้ารับ การเมืองไทยพัฒนาไปมาก ประเภทมี ส.ส. 18 คน แล้วตั้งรัฐบาล จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
รัฐบาลที่เข็มแข็ง ต้องเป็นการรวมกันของพรรคต่างๆ ให้มีเสียงถึง 300 เสียงถึงจะอยู่รอด ลำพังรวมกันได้ 260 - 270 เสียง รับรองว่าไปไม่ไหว แค่เจองดออกเสียงก็จบแล้ว ตนถึงได้บอก ว่าการตัดสินใจทางการเมือง ต้องคิดกันให้ดี ไม่ใช่ได้แค่นายกฯ แต่มันต้องนึกถึงการบริหารด้วย ที่ออกมาให้ข่าวเรื่องที่มานายกฯ ไม่ได้เพราะโกรธ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาวิจารณ์นโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทย แต่ต้องการเสนอแนวคิดของพรรค
สำหรับตอนนี้พรรคภูมิใจไทย และ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถคุยกันได้ เพราะมาจากคนละฐานกัน ยืนกันคนละฝั่ง ตนมาจากประชาชน ต่างจากท่าน แต่หลังเลือกตั้ง เมื่อเรามาจากประชาชนทั้งคู่ ย่อมสามารถคุยกันได้ ส่วนจะร่วมงานได้หรือไม่ขึ้นกับว่าต่างฝ่ายต่างให้เกียรตินโยบายของกันและกัน และพร้อมรับไปทำหรือไม่
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ที่มาพูดไม่ได้หมายถึงจะเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ ลดทอนอำนาจของ ส.ว. แต่พูดตามหลักการเท่านั้น และเชื่อว่า หากมุ่งหน้าไปแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่ประชาชนยังประสบปัญหาปากท้อง ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควร หน้าที่ของเราคือการทำงานดูแลประชาชน