"ด้วยความเคารพอย่างสูง กูไม่ได้รู้สึกเห็นใจกับ 'ไอ้มืด' อย่างพวกมึงเลยเว่ย นั่นแหละคือสิ่งที่กูรู้สึก เอาแต่ตะโกน 'ชีวิตคนดำมีค่า' อยู่ได้ ทั้งๆ ที่คนดำแม่งก็เป็นพวกไม่รับผิดชอบ วันๆ เอาแต่เบี้ยวหนี้"
แม้ประโยคข้างต้นจะเต็มไปด้วยการเหยียดผิวและความเกลียดชังที่อาจจะลามไปเป็นความน่าสะอิดสะเอียน แต่เชื่อเถอะว่า นี่คือเพลงที่ได้เข้าชิงรางวัลแกรมมีปี 2018 ในสาขาเนื้อเพลงแร็ปยอดเยี่ยม และให้ตายเถอะ มันสมควรจะชนะด้วยซ้ำ
สาเหตุสำคัญที่เราเลือกหยิบยกเพลงเก่า ที่ปล่อยออกมาตั้งแต่ปลายปี 2560 มาเขียนและแปลเนื้อหาบางส่วนให้คนไทยได้รู้จักกัน ไม่ใช่เพราะเพลงนี้เคยเกือบได้แกรมมี่ และไม่ใช่เพราะต้องการให้คนไทยหันมาฟังเพลงจากแร็ปเปอร์ผิวดำอย่าง ‘จอยเนอร์ ลูคัส’ แต่เหตุผลหลักและเหตุผลเดียว เป็นเพราะเพลงนี้สะท้อนความเน่าเฟะแทบทุกอย่างของสังคมการเหยียดผิวในสหรัฐฯ ที่ ‘จอร์จ ฟลอยด์’ เหยื่ออธรรมชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนล่าสุดต้องสังเวยชีวิตให้ และมิวสิกวิดีโอก็โต้อารมณ์กันได้เผ็ดร้อนพอๆ กับเนื้อเพลงที่ทั้งเจ็บปวดและชวนโมโห
ถ้ากล่าวโดยง่าย เพลงนี้แบ่งออกเป็นสองท่อน คือท่อนที่นำเสนอความคิดของชาวผิวขาวต่อคนดำ ที่ถ่ายทอดโดยตัวละครผู้ชายผิวขาวสวมหมวกที่มีสโลแกน 'Make America Great Again' ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ซึ่งมีจุดยืนต่อคนผิวดำ ชาวเอเชีย และผู้อพยพอย่างชัดเจนตลอดมา ในฐานะตัวแทนของคนผิวขาวที่เกลียดชังและไม่เข้าใจคนผิวดำ ขณะที่ท่อนที่สองซึ่งเป็นการโต้กลับของคนผิวดำนั้น ก็จะให้ใครมาเล่นถ้าไม่ใช่คนผิวดำล่ะ
เนื้อหาของเพลงนี้กล่าวถึงการเหมารวมในหลากหลายประเด็น แต่จอยเนอร์เลือกที่จะเปิดการเชือดเฉือนครั้งนี้ด้วยประเด็นทางภาษาศาสตร์อย่างการใช้คำว่า ‘NIGGA’ ที่หลายคนอาจเลี่ยงไปใช้การอธิบายอ้อมๆ อย่าง ‘The N-Word’ ให้รู้กันเป็นนัยว่าหมายถึงสิ่งใด ซึ่งในการแปลครั้งนี้เราเลือกแปลคำดังกล่าวว่า ‘ไอ้มืด’ ด้วยเหตุผลสองประการ คือ 1. คำดังกล่าวไม่ได้มีการแปลเอาไว้อย่างเป็นทางการ ดังนั้นอำนาจการแปลจึงตกอยู่กับผู้แปล 2. เนื่องจากอำนาจนี้ตกอยู่กับเรา และเรามีเจตนาคงเอาไว้ซึ่งความหมายแฝง หรือในที่นี้คือการดูถูกดูแคลนของผู้ใช้คำดังกล่าว
ถ้าถามว่า ทำไมต้องเป็นคำว่า ‘ไอ้มืด’ คุณลองถามตัวเองสิว่า คำนี้คนไทยใช้เรียกคนผิวดำจริงไหม และความหมายที่ซ่อนอยู่มันดีรึเปล่า
ทีนี้กลับไปที่เนื้อเพลง สิ่งที่ตัวละครผิวขาวคนนี้พยายามจะสื่อคือขณะที่พวกคนดำเอาแต่เรียกคนอื่น 'ไอ้มืด' ตลอดเวลาแล้วไม่เป็นอะไร ทำไมพอคนขาวจะเรียกบ้างดันมาโดนด่าว่าเป็นพวกเหยียดผิว แถมจะโดนต่อยเอาง่ายๆ อีก และแร็ปเปอร์หลายคนเองก็ใช้คำเหล่านี้ในเนื้อเพลง แม้ตัวแร็ปเปอร์คนนั้นจะไม่ใช่คนดำเองก็ตาม ซึ่งโดยสรุปแล้ว "มันดูไม่ยุติธรรม"
เนื้อเพลงเชื่อมไปสู่ประเด็นเรื่องการตกเป็นทาสของคนดำในสมัยก่อนว่าคนดำทุกวันนี้ก็เอาแต่พูดเรื่องนี้อยู่ได้ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้ต้องใช้แรงงานแบบนั้นเลย หรือจะสื่อว่าความเป็นทาสมันเป็นอดีตที่จบไปแล้ว เลิกพูดถึงมันได้แล้ว
"พูดถึงเรื่องทาสเหมือนกับพวกมึงอยู่ในสมัยนั้น เหมือนกับพวกมึงต้องไปนั่งเก็บฝ้ายจากพื้นด้วยตัวเอง อย่างกับว่าต้องไปอยู่ในไร่ในสวนในห้วงเวลานั้นเองเหรอวะ" เนื้อเพลงระบุ
เท่านั้นยังไม่พอ ‘I'm Not Racist’ ในท่อนแรกผ่านสายตาของคนขาวยังกล่าวไปถึงภาพการเหมารวมว่าคนดำไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ทำมาหากิน ไม่มีแม้แต่ความฝัน เอาแต่จับกลุ่มอยู่ตามข้างถนน ฟังเพลงแร็ป เรื่องที่ทำได้ดีที่สุดก็เห็นจะเป็นตั้งตัวเองเป็นโจร ถือปืนขู่คนอื่นไปทั่ว หรือแม้แต่พยายามขายยาให้กับเด็กที่อ่อนต่อโลก ขณะที่คนขาวต้องทำงานงกๆ จ่ายภาษีให้รัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลเอาเงินของพวกเขาไปช่วยเหลือครอบครัวคนดำเหล่านี้ แล้วก็ยังต้องมาเสี่ยงที่ลูกตัวเองจะถูกขายยาให้อีก
"และคือกูต้องทำงานอย่างหนักเพื่อจ่ายภาษีเพื่ออะไรวะ เพื่อให้พวกมึงอยู่ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลเหรอวะ อุตสาห์มีโครงการอาหารกลางวันให้ลูกพวกมึง แต่มึงยังตั้งหน้าตั้งตาจะมาขายเหล้ายาให้เด็กพวกนี้เนี่ยนะ"
ประเด็นอีกมากมายถูกสอดแทรกเอาไว้จนเราไม่สามารถแปลออกมาได้ทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญท่อนหนึ่งที่จอยเนอร์เข้าไปแตะคือปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ตำรวจสหรัฐฯ มองเข้ามายังวัฒนธรรมและความเป็นคนดำ แร็ปเปอร์จากแมสซาชูเสตส์สะท้อนผ่านสัมภาษณ์พิเศษกับเว็บไซต์จีเนียสว่า ตนเองเคยถูกแนะนำด้วยความหวังดีว่าหากคนดำทุกวันนี้แต่งตัวให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ อาจจะใส่กางเกงให้สูงขึ้นมาอีกนิด เลิกใส่ฟันเหล็กสีทอง บางทีตำรวจอาจจะเลิกพุ่งเป้าไปหาคนที่แต่งตัวแบบนี้สักที ซึ่งแร็ปเปอร์อธิบายว่า สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนกับการบอกว่า “ถ้าเลิกเป็นคนดำได้ นั่นแหละคุณก็คงไม่ตาย" ซึ่งตัวเขาเชื่อว่าทุกคนควรมีอิสระในการสวมใส่สิ่งไหนก็ได้ที่เป็นตัวเองและนั่นไม่ควรเป็นสาเหตุที่ใครก็ตามต้องตาย
ประเด็นดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แท้จริงแล้วมันไม่ได้อยู่ที่การแต่งตัว หากคนขาว (ซึ่งก็มี) อยากจะแต่งตัวในรูปแบบเดียวกัน ใส่กางเกงต่ำลงมา ใส่ฟันเหล็กสีทอง หรือแม้แต่เลียนแบบวัฒนธรรมคนดำมาทั้งหมดก็ไม่ได้ทำให้ตำรวจจะหันมาสนใจ เพราะแท้จริงแล้วตำรวจไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านั้น แต่เป็นสีผิวต่างหาก
วรรคสุดท้ายของท่อนแรกนี้จบลงที่ว่า ชาวผิวขาวพยายามบอกกับคนดำว่าตัวเขาเองไม่ได้เหยียดผิวและเขาก็รับรู้ว่าทั้งสองฝ่ายอยู่ในประเทศเดียวกันที่เหมือนถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง และตัวเขาเองก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าเรื่องราวของฝั่งคนดำเป็นอย่างไร
"กูไม่ได้เหยียดผิว มันเหมือนกับเราอยู่บนตึกเดียวกันที่ถูกแบ่งออกเป็นสองชั้น กูไม่ได้เหยียดผิว แต่ทุกเรื่องมันมีสองด้าน กูอยากจะรู้ฝั่งมึงบ้าง กูอยากรู้เรื่องฝั่งมึงบ้าง กูไม่ได้เหยียดผิวจริงๆ กูสาบาน"
จอยเนอร์เริ่มท่อนที่สองของตัวเองผ่านคำพูดตอบโต้คนขาวในท่อนแรกด้วยประโยคคล้ายคลึงกันว่า…
"ด้วยความเคารพอย่างสูง กูแม่งไม่ชอบไอ้พวกคนขาวเฮงซวยอย่างมึงเลยเว่ย นั่นคือสิ่งที่กูเป็น ออกมาตะโกน 'ทุกชีวิตมีค่า' เพื่อประท้วงการประท้วงของกูเนี่ยนะ มันคืออะไรของพวกมึงวะ"
นอกจากนี้ คุณยังจำสิ่งที่คนขาวพูดถึงประเด็นเรื่องคำว่า 'ไอ้มืด' ก่อนหน้าได้ไหม สิ่งที่จอยเนอร์อธิบายผ่านเนื้อเพลงในท่อนนี้คือ การใช้คำว่า 'NIGGA' สำหรับคนดำนั้นเป็นการย้ำเตือนถึงความเป็นพวกพ้อง เป็นการย้ำเตือนถึงอดีตที่เคยถูกกดขี่ ดังนั้นการใช้คำนั้นในสังคมและวัฒนธรรมของคนดำกันเองจึงเป็นไปเพื่อรับรู้ถึงความยากลำบากในอดีตที่ต้องทนร่วมกันมา
ในทางกลับกัน แค่เพียงเพราะคนขาวบังเอิญมีเพื่อนเป็นคนดำ ไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นจะมีสิทธิพูดคำนั้นออกมา เพราะนอกจากจะไม่ได้มีประวัติศาสตร์ในการเป็นผู้ถูกกดขี่ตรงนั้น สรรพนาม ‘ไอ้มืด’ นั้นยังถูกสร้างขึ้นมาจากตัวคนขาวที่ต้องการเอาไว้เหยียดคนดำด้วยซ้ำ ดังนั้นการที่คนขาวพูดถึงคนดำด้วยสรรพนามนั้น มันจึงเต็มไปด้วยความหมายแฝงที่ซ่อนเอาไว้ และเป็นเรื่องที่ทำให้คนดำยังเจ็บปวดอยู่เสมอ เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องทาสที่จอยเนอร์อธิบายอย่างชัดเจนว่า การไม่ได้อยู่ตรงนั้นในอดีต ไม่ได้หมายความว่าคนในปัจจุบันไม่ได้รับผลกระทบจากมันเช่นเดียวกัน
"ถึงแม้พวกกูจะไม่ต้องไปเก็บฝ้ายด้วยตัวเองก็ไม่ได้หมายความว่ากูไม่ได้รับผลกระทบจากประวัติศาสตร์ ย่า/ยาย กูเป็นทาสมาก่อนและแม่งก็ทำให้กูเจ็บใจเหมือนกัน"
ส่วนประเด็นที่คนดำวันๆ ไม่ทำอะไรนั้น สิ่งที่แร็ปเปอร์ตอบโต้กลับไปสะท้อนในโครงสร้างของระบบสังคมและการทำงานของสหรัฐฯ ที่ไม่เอื้อให้คนดำมีที่ยืนในสังคม ความหมายแอบซ่อนอาจแปลไปได้ถึงว่า หากระบบเปิดมากกว่านี้ มีความเท่าเทียมมากกว่านี้ คนดำก็คงมีทางเลือกที่ดีกว่าการค้ายาเพื่อให้มีข้าวกินมื้อต่อมื้อ
"กูขอโทษที่กูไม่เคยรับรู้ถึงชีวิตตัวเอง ก็พยายามจะมีศรัทธา แต่แม่งไม่เคยรู้สึกว่าใช่สักที มันยากที่จะดันตัวเองให้สูงขึ้นขณะที่ประเทศมันขับเคลื่อนด้วยคนขาวที่เอาแต่ตัดสินกูจากสีผิวและความดำ พยายามจะหางานทำแต่ก็ยังไม่มีใครโทรกลับมาสักที ตอนนี้ก็เลยต้องมานั่งขายยาเพื่อแลกกับอาหาร"
และแล้วเนื้อเพลงก็วกกลับเข้าสู่ประเด็นตำรวจอีกครั้ง ผ่านความเหน็ดเหนื่อยจากการใช้ชีวิตที่ถูกบีบคั้นจนไม่รู้จะไปยืนตรงไหนของสังคม วิถีชีวิตที่คนขาวไม่เคยต้องเผชิญ แต่เป็นความปกติที่ผิดปกติของคนผิวดำในสหรัฐฯ
"กูโคตรเหนื่อยเลย ไม่เคยจะขับรถได้ดีๆ โดยไม่มีปัญหากับตำรวจสักครั้ง กูเบื่อกับระบบเหยียดผิวนี้เต็มที่แล้ว"
"พวกมึงไม่รู้หรอกว่าการอยู่ดีๆ แล้วต้องโดนตำรวจเรียกแล้วไม่รู้ว่าจะตายหรือเปล่าเป็นยังไง มึงห่วงชีวิตตัวเอง มึงก็เลยมาเอาชีวิตพวกกูแทน"
อย่างไรก็ตาม จอยเนอร์ ไม่ได้จบเพลงด้วยความสิ้นหวังมากเท่าไหร่นัก เขาเลือกที่จะมองเห็นความหวังว่าหากทั้งสองฝั่งได้เห็นความคิดและความเป็นจริงของกันและกันก็อาจจะเข้าใจกันได้มากขึ้น โดยย้ำว่าแผลเป็นที่เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถใช้ผ้าพันแผลมาลบมันไปได้ แต่เป็นการทำความเข้าใจในความแตกต่างต่างหากที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถสมานแผลเก่าและไม่สร้างแผลใหม่ขึ้นมาอีก
ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว แต่ความหวังของจอยเนอร์หรือความหวังของคนดำในสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นแต่อย่างใด ซ้ำร้าย ยิ่งดูให้ใกล้ลงไปยิ่งกลับจะห่างออกจากความจริงเป็นเสียอีก เพราทำได้เพียงแต่หวังว่า ‘จอร์จ ฟลอยด์’ จะเป็นเหยื่ออธรรมคนสุดท้าย และเราก็หวังอย่างนั้นมาตลอดในทุกโศกนาฏกรรม แต่มนุษย์ก็ทำให้เราผิดหวังได้เสมอมา
ป.ล.ประโยคในเครื่องหมายฟันหนูที่ทำตัวหนาเป็นการแปลมาจากเนื้อเพลง
อ้างอิง: Genius
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;