ประชาชนสามารถเข้าถึงศาลและใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยตนเองได้อย่างสะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านระบบ e-Filing โดยผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวสามารถยื่นฟ้องได้ 27 ม.ค.เป็นต้นไป ส่วนพิธีเปิดแผนกคดีซื้อขายออนไลน์อย่างเป็นทางการสามารถรับชมได้จากการแพร่ภาพสดทาง Facebook Live เพจสื่อศาล
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการเปิดแผนกฯ แล้ว ในวันที่ 27 ม.ค. 65 ศาลยุติธรรมจะร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินคดีและประสานข้อมูลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อขายออนไลน์กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมบังคับคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนให้มี นโยบาย แผนงาน และเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินการคุ้มครอง เยียวยา และระงับข้อพิพาทของผู้บริโภคจากการซื้อขายออนไลน์อีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง สรุปความได้ว่า ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าหรือบริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลายและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดข้อพิพาทตามมาเป็นจำนวนมาก แต่ช่องทางระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ไม่เอื้อต่อการที่ผู้บริโภคจะเข้าถึงได้โดยสะดวก จึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ขึ้นในศาลแพ่งให้เป็นระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ โดยผู้ที่มีข้อพิพาทอันเกิดจากการบริโภควิถีใหม่สามารถเข้าถึงศาลและใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยตนเองได้โดยสะดวก ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือบริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้อีกทางหนึ่ง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 7 และมาตรา 10 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมออกประกาศให้จัดตั้งแผนกในศาลแพ่ง โดย “คดีซื้อขายออนไลน์” หมายความว่า คดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 3 (1) ที่เกิดจาการซื้อขายสินค้าหรือบริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต คดีที่ศาลแพ่งรับให้ใช้ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบในทุกขั้นตอนของกระบวนการพิจารณา คดีใดไม่อาจดำเนินการดังกล่าวได้ ไม่ให้ถือว่าเป็นคดีของแผนกและให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาไปอย่างคดีปกติ