ไม่พบผลการค้นหา
แรงงานไทยในอิสราลเอล 90 คนเดินทางกลับมาตุภูมิ 'พิพัฒน์' ย้ำเร่งพากลับอีก 7 พันคน ชี้รัฐบาลเป็นห่วงเพราะทุกคนเพราะช่วยพัฒนาประเทศ บอกอนาคตใครอยากกลับไปทำงานจะพาหรือหาประเทศอื่นที่ได้ค่าแรงใกล้เคียง เผยได้รับรายงานตายเพิ่มเป็น 28 คน - ด้าน 'แพทองธาร' วันนี้ช่วยดูแลเรื่องที่พักให้หากยังไม่สะดวกกลับภูมิลำเนา

แรงงานไทย 90 คนเดินทางกลับมาตุภูมิ 'พิพัฒน์' ย้ำเร่งพากลับอีก 7 พันคน ชี้รัฐบาลเป็นห่วงเพราะทุกคนเพราะช่วยพัฒนาประเทศ บอกอนาคตใครอยากกลับไปทำงานจะพาหรือหาประเทศอื่นที่ได้ค่าแรงใกล้เคียง เผยได้รับรายงานตายเพิ่มเป็น 28 คน - ด้าน 'แพทองธาร' วันนี้ช่วยดูแลเรื่องที่พักให้หากยังไม่สะดวกกลับภูมิลำเนา

วันที่ 15 ต.ค. ที่โรงแรม SC Park แรงงานไทยอีก 90 คน ที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอล ภายหลังจากลงเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง เมื่อช่วงเช้า ได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ โดยมี พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ,พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ,พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกมนตรี , จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และครอบครัวของแรงงาน มารอต้อนรับ

แรงงานไทยในอิสราเอล S__70467647.jpg

พิพัฒน์ กล่าวต้อนรับว่า ในนามรัฐบาลไทยดีใจที่ทุกคนกลับมาถึงประเทศเรียบร้อย ขณะนี้เรากำลังเร่งช่วยเหลือคนไทยอีกเกือบ 7,000 คนที่แจ้งความประสงค์เดินทางกลับไว้ รวมถึงช่วยเหลือผู้ที่ถูกจับตัวอยู่ 

ทั้งนี้ในนามรัฐบาลไทยโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความห่วงใยกับชาวแรงงานทุกคน เพราะทุกท่านสร้างคุณูปการ เพราะเป็นกำลังหลักส่วนหนึ่งให้กับประเทศไทย ในการช่วยพัฒนาประเทศ

รมว.แรงงาน ระบุอีกว่า ทุกคนในประเทศไทยเข้าใจดีว่าทุกคนอยู่ในสภาวะเครียดภายใต้สถานการณ์สงคราม และสองประเทศที่มีปัญหากันก็ไม่อยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทุกคนก็ต้องดูแลตัวเองในเบื้องต้นและรัฐบาลไทยก็จะคอยช่วยเหลือ โดยขณะนี้กองทัพอากาศไทย ก็ได้ส่งเครื่องบินไปช่วยเหลือแล้ว รวมถึงจะมีเครื่องบินพาณิชย์ไปรับกลับมา ซึ่งหลังจากนี้ก็คาดว่าจะมีแรงงานไทยเดินทางมาไม่น้อยกว่าวันละ 200 - 400 คน แล้วก็หวังว่าจะสามารถนำกลับมาสู่ประเทศไทยอย่างปลอดภัยให้มากที่สุด ส่วนคนที่ยังไม่กลับมาตอนนี้ หากอนาคตเกิดวิกฤตจริงๆก็จะต้องนำกลับมาทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม คนที่อยากจะกลับไปใหม่อีกครั้งนึง กระทรวงแรงงานได้แจ้งนายกฯ ว่าหากใครยังทำงานไม่ครบสัญญา และอนาคตอยากกลับไปทำงานในต่างประเทศต่อ ขอให้สบายใจได้กระทรวงแรงงานจะทำหน้าที่ประสาน เมื่อเหตุการณ์สงบจะนำท่านกลับไปในอิสลาเอล หรืองานในประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ใกล้เคียงหรือน้อยกว่าเดิมเล็กน้อยเพื่อให้ไปทำงานต่อ เพราะรัฐบาลเข้าใจว่าทุกคนที่ไปก็มีหนี้สิน ฉะนั้นหากประสงค์ก็ขอให้แจ้งกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้ ส่วนใครที่จ่ายค่าตัวเองก็ขอให้เก็บตั๋วไว้รัฐบาลจะรับผิดชอบดูแล 

ส่วนวันนี้ใครเมื่อกลับมาแล้ว ยังไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ แจ้งไว้ว่า หากใครยังไม่สะดวกเดินทางกลับก็แจ้งความประสงค์ แพทองธาร จะดูแลเรื่องที่พักให้ในเบื้องต้น อย่างไรตนขอให้กำลังใจทุกคนและหากมีอะไรขาดเหลือก็ขอให้ประสานไปที่กระทรวงแรงงาน เพื่อให้การช่วยเหลือ 

พร้อมย้ำว่ารัฐบาลเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้สูญเสีย ซึ่งขณะนี้เมื่อเช้าได้รับเพิ่มเติมว่า ได้รับการพิสูจน์อัตลักษณ์พบว่ารายงานแรงงานไทยเสียชีวิตเพิ่มรวมเป็น 28 คน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องให้กำลังใจกับคนที่อยู่ภายหลัง

ด้าน ไชยะ บุญสังข์ แรงงานไทย อายุ 39 ปี เมื่อพบคริบครัวได้สวมกอดลูกชายวัย 11 ปี และผู้เป็นแม่ทันที พร้อมเปิดเผยว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้กลับมาเจอหน้าลูกชายและครอบครัว เพราะตลอดหลายวันที่ผ่านมาตนหลบอยู่ในโรงงานนาน 3 วัน โดยไม่มีอาหารและห้องน้ำ เนื่องจากถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายปิดล้อมต้องปีนไปหลบอยู่บนหลังคา รอจนทหารอิสราเอลเข้ามาช่วยหนีออกมายังจุดที่ปลอดภัย ก่อนที่จะได้เดินทางกลับไทย ซึ่งที่ผ่านมาตนไปเป็นแรงงานรับจ้างในสวนเกษตรใกล้ฉนวนกาซา มานานกว่า 1 ปี

"ที่ผ่านมามักจะมีเหตุปะทะยิงกันอยู่ตลอด แต่ไม่เคยรุนแรงขนาดนี้ ครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุด ทำให้รู้สึกกลัวเป็นอย่างมาก และส่วนตัวคงไม่กลับไปทำงานที่อิสราเอลอีกแล้ว" ไชยะกล่าว

ขณะที่ มยุรี บุญใหญ่ อายุ 40 ปี ภรรยาของ สมชาย บุตรศรี อายุ 45 ปี แรงงานไทยในอิสราเอล ชาวจังหวัดชัยภูมิ เล่าว่า สามีทำงานในพื้นที่ฉนวนกาซา ติดรั้วชายแดนใกล้กับค่ายทหาร ซึ่งสามีเดินทางไปทำงานครบกำหนดสัญญา 5 ปีแล้ว แต่นายจ้างให้ทำงานต่อ โดยที่ที่ผ่านมาสามีไม่ค่อยเล่าเหตุการณ์ความรุนแรงให้ฟัง เพราะกลัวครอบครัวเป็นห่วง และเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคมวันที่เกิดเหตุ ตนไม่สามารถติดต่อกับสามีได้ ยอมรับว่าจิตตกและเป็นห่วงมาก เพราะติดต่อสามีไม่ได้ประมาณ 3 วัน จนกระทั่งสามีติดต่อกลับมาในวันพุธที่ 11 ตุลาคม บอกว่าปลอดภัยดี พร้อมกับเล่าเหตุการณ์ให้ฟังจึงคลายความกังวลขึ้น

"อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ก็ไม่อยากให้สามีกลับไปทำงานอีกแล้ว แม้ว่าสามีอยากกลับไปอยู่ก็ตาม เพราะตนห่วงเรื่องความปลอดภัย เพราะอยากให้สามีมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวมากกว่า" มยุรีกล่าว