ไม่พบผลการค้นหา
'กมธ.ป.ป.ช.' ขุดปมนาฬิกา 'ประวิตร' เผยไม่เคยเห็นภาพเพื่อนใส่นาฬิกาหรู เล็งเชิญ 'ม.ร.ว.ปรีดิยาธร' เข้าชี้แจงในฐานะผู้จัดการมรดก ซัด ป.ป.ช.ปล่อยเรื่องเงียบ จี้ควรรื้อคดีหลังพบหลักฐานใหม่

วันที่ 5 ก.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) แถลงกรณีนาฬิกาเพื่อนว่า ตนได้อภิปราย พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไว้เมื่อตอนการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา และเป็นการอภิปรายที่ถูกประท้วงมากที่สุดถึง 24 ครั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการไปแตะต้องพล.อ.ประวิตร นั้นไม่ง่าย เพราะ พล.อ.ประวิตร เป็นรัฐมนตรีที่ทรงอำนาจ และมีบารมีมากที่สุดในรัฐบาลชุดนี้ มีบารมีมากกว่าตำแหน่งที่ดำรงอยู่ จนทุกหน่วยงานในประเทศ ไม่ว่ากระทรวง หรือองค์กรอิสระ ไม่กล้าขัดใจ พล.อ.ประวิตร ได้ 

ธีรัจชัย กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ การแสดงบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตร ทั้งปี 2551 2554 2555 และ 2557 ไม่เคยแสดงบัญชีทรัพย์สิน ว่ามีนาฬิกาหรูเป็นของตนเอง ดังนั้นสื่อมวลชนจึงสืบหา และพบว่า พล.อ.ประวิตร มีนาฬิกาหรูอีก 20 กว่าเรือนที่ใส่ไปในงานต่างๆ โดยเฉพาะช่วงปี 2560 มีมากเป็นพิเศษ จึงมีการตั้งคำถามว่านาฬิกาหรูมาจากไหน ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งกรรมการสอบ ต่อมามีการแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นนาฬิกาของเพื่อน ชื่อ ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ โดยยืมมาใส่ 

แต่สิ่งที่สำคัญคือ ไม่เคยเห็นภาพ ปัฐวาท ใส่นาฬิกาหรูสักเรือนเดียวใน 20 เรือนที่ปรากฎเป็นข่าว ซึ่งผลสอบของ ป.ป.ช. เชื่อว่าเป็นนาฬิกายืมเพื่อนมา จึงมีมติ 5 ต่อ 3 ให้ยุติเรื่องนี้ ทำให้เป็นสิ่งที่คาใจประชาชน เพราะปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และวุฒิสภา เพื่อตั้งองค์กรอิสระที่มีสายมาจากคสช. เชื่อมโยงอำนาจรัฐประหารมีการแทรกแซงโดยใช้มาตรา 44 แต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. และประธาน ป.ป.ช. ก็เป็นอดีตเลขาธิการของพล.อ.ประวิตร ถามว่ามีการสอบเรื่องดังกล่าวให้สิ้นกระแสความก่อนยุติเรื่องหรือไม่ และส่งเรื่องให้กรมศุลกากรก็ไม่มีการสอบรายละเอียด 

ธีรัจชัย ตั้งคำถามว่า ทำไมจึงต้องยุติเรื่องนี้ และการตรวจสอบบัญชีทรัพย์มรดกก็ไม่มีการดำเนินการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ให้อัยการสูงสุดส่งเรื่องไปบริษัทแม่ว่านาฬิกาเหล่านั้นเป็นของใคร แต่ ป.ป.ช.กลับส่งเรื่องไปอย่างผิดธรรมเนียม จึงทำให้ไม่ได้มีเรื่องส่งกลับมา

ธีรัจชัย กล่าวอีกว่า ต่อมา กรรมาธิการ ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้วพบว่า ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานะทายาท เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อกรรมาธิการฯ ได้เอกสารมา ไม่ปรากฎว่ามีนาฬิกาหรูอยู่สักเรือนเดียว แสดงว่าสิ่งที่ตนตั้งข้อสันนิษฐานตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเป็นจริง และ ป.ป.ช.ไม่ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ โดยรีบสรุปเรื่องจนมีมติ 5 ต่อ 3 ยุติเรื่องดังกล่าว ดังนั้นตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 54 บัญญัติว่าให้กรรมการ ป.ป.ช.รับหรือยกเรื่อง กรณีที่ป.ป.ช. วินิจฉัยเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่มีพยายานหลักฐานใหม่ ที่มีสาระสำคัญของคดีทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป 

ซึ่งตนเชื่อว่ากรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 3 เสียงอยากให้ตรวจสอบเรื่องนี้ให้สิ้นกระแสความ จึงขอให้ 1 ใน 3 เสียงเสนอเพื่อนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพราะมีหลักฐานใหม่และ 3 คนนี้ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดี รวมทั้งขอให้กรรมการ ป.ป.ช.อีก 5 คนช่วยตรวจสอบด้วย และขอความร่วมมือให้สำนักงานอัยการสูงสุดทำเรื่องไปบริษัทแม่ว่า นาฬิกาหรูดังกล่าวเป็นของใครกันแน่ รวมทั้งขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบซีเรียลนัมเบอร์ที่มีการเปิดเผย เพื่อดำเนินการคู่ขนานกันไป และในวันที่ 7 ก.ย. กรรมาธิการ ป.ป.ช.จะเชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรมาให้ข้อมูลในฐานะผู้จัดการมรดก