ไม่พบผลการค้นหา
กสทช. ชี้เครือข่าย 5G จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยปี 2578 สูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท ทั้งในด้านการเกษตร การผลิต โลจิสติกส์ และการแพทย์ จึงต้องเร่งเดินหน้าเพื่อผลักดันให้ 5G เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ หากล่าช้าจะตกขบวนการพัฒนาในระดับภูมิภาค

กระทรวงดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดงาน '5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน' โดยดึงบริษัทโทรคมนาคมร่วมจัดแสดงยูสเคส (use case) การทดสอบระบบ 5G ซึ่งจะเข้ามาเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และชีวิตประจำวันของผู้คนในอนาคต

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ระบุว่า การผลักดัน 5G ให้เกิดขึ้นในไทยถือเป็นวาระที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะ 5G คือเทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภายในประเทศ และจะสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตาม 5G ไม่ใช่แค่อินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น หรือการเปลี่ยนมือถือใหม่ที่รองรับ 5G แต่เป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมหาศาลเข้าด้วยกัน ดังนั้นการเปิดใช้งานของ 5G จึงต้องมีการเตรียมตัวอย่างมาก เพราะจะมีการใช้งานดาต้าเพิ่มมากถึง 40 เท่า และต้องการคลื่นความถี่ถึง 3 ย่านด้วยกันคือต่ำ กลาง และสูง

กสทช. จึงได้มีการเตรียมความพร้อม 5G โดยนำร่องทดสอบร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่อนคลายกฎระเบียบที่เข้มงวดเอื้อต่อการพัฒนา รวมถึงเตรียมจัดสรรการประมูลที่ตอบสนองต่อความต้องการของโอเปอร์เรเตอร์

"ทุกคนพูดว่า 5G เกิดแล้วจะต้องมีคลื่นความถี่ระดับ 100-200 เมกกะเฮิร์ตซ (MHz) รองรับ จะทำยังไงให้โอเปอร์เรเตอร์สามารถมีความถี่ไปให้บริการได้ ดังนั้นกสทช.เองจะต้องเดินหน้าที่จะให้มีการเปิดประมูลหลายย่านคลื่นความถี่ (Multiband) เกิดขึ้น"

ตัวเลขคาดการณ์ของกสทช. ยังระบุด้วยว่า ในปี 2578 เครือข่าย 5G จะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไทยให้เกิดขึ้นได้กว่า 2.3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะด้านการผลิต หากโรงงานไทยสามารถยกระดับสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart manufacturing) ที่ใช้หุ่นยนต์และเซ็นเซอร์ทดแทนแรงงานคนได้ ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากถึง 634,000 ล้านบาท

"ในการแข่งขันกับต่างประเทศ ในภาคผลิตของเรา การส่งออกของเราจะมีปัญหา เพราะต้นทุนเราสูงขึ้น ในขณะเดียวกันการเพิ่มมูลค่าการผลิตของเราจะต้องต่ำลง"

รวมไปถึงภาคการเกษตรในการทำเกษตรอัจฉริยะ ภาคโลจิสติกส์ที่ใช้หุ่นยนต์ในการขนส่งสินค้า หรือภาคสาธารณสุข เช่น การผ่าตัดทางไกลผ่านแขนกล ตลอดจนการตรวจรักษาโดยแพทย์และผู้ป่วยอยู่คนละพื้นที่ สามารถเกิดขึ้นได้จริง โดยสามารถเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก กสทช. ระบุว่า ปี 2561 ประเทศไทยมีการนำเข้าข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมากถึง 5,809,365 เทเลไบต์บนเครือข่าย 4G ผ่านแพล็ตฟอร์มเฟซบุ๊ก ยูทูป และไลน์ แต่เนื่องจากเป็นการส่งผ่านข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (OTT : Over-The-Top) ทำให้รัฐไม่สามารถเก็บค่าบริการการใช้งานข้อมูลตรงนี้ได้ แม้ว่าจะเกิดขึ้นบนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมประเทศก็ตาม

กสทช. จึงจะพิจารณาให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ 17 ราย แยกว่าแต่ละผู้ให้บริการ OTT มีการใช้งานข้อมูลเท่าไหร่ในแต่ละปี หากใช้งานในระดับที่ กสทช. ประกาศกำหนดไว้ก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม

"นี่คือความท้าทายในยุค 5G การใช้งานของทราฟฟิกดาด้าจะเพิ่มขึ้น 30-40 เท่า ดังนั้น กสทช. จะเสนอทางเลือกต่างๆ เพื่อให้มีแนวทางในการจัดเก็บรายได้ค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเป็นธรรมในการลงทุน และเป็นรายได้เข้ารัฐ"