นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เรื่อง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงทุนกับนิติบุคคลเฉพาะกิจ ซึ่งเอกชนที่ได้รับคัดเลือกจะจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นถือว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหรือเห็นชอบตามมติ กพอ.
นอกจากนี้ เห็นชอบให้ รฟท. ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับเอกชนที่ได้รับคัดเลือกตามที่ กพอ. ได้เห็นชอบไว้ เพื่อให้เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494
พร้อมกับเห็นชอบให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินตามที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ได้มีมติอนุมัติ โดยการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวจะอยู่ในลักษณะการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่า 1 ปีงบประมาณ สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ตามนัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และอนุมัติให้ รฟท. ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายได้ ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 สำหรับดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน วงเงิน 149,650 ล้านบาท
ทั้งนี้ รฟท. จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแก่เอกชนที่ได้รับคัดเลือก ด้วยการแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี หลังจากเริ่มการให้บริการโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน
สำหรับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกประกอบกิจการการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบิน คือ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย) , บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :