ไม่พบผลการค้นหา
'ประธานเปอร์มัส' ชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นสะท้อนว่าชายแดนใต้ไม่ปลอดภัยสำหรับประชาชน รัฐไทยต้องตระหนักว่าการแก้ปัญหาด้วยการบังคับใช้กฎหมายพิเศษไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

ย้อนไปวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 เกิดโศกนาฏกรรมเศร้าสลดที่บ้านเลขที่ 143/4 หมู่ 7 บ.ปะลุกาแปเราะ ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

คนร้ายมากกว่า 1 คน บุกเข้ามาใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่บ้านของครอบครัว 'มะมัน' เป็นเหตุให้ ด.ช.มูยาเฮด มะมัน อายุ 11 ปี, ด.ช.บาฮารี มะมัน อายุ 9 ปี และ ด.ช.อิลยาส มะมัน อายุ 6 ปี เสียชีวิต ขณะที่นายเจะมุ มะมัน บิดา และน.ส.พาดีละห์ แมยู มารดาได้รับบาดเจ็บสาหัส

กระทั่งต่อมาการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า มือปืนชื่อ อส.ทพ.มะมิง บินมามะ อายุ 21 ปี สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4607 กรมทหารพรานที่ 46 และ อส.ทพ.ซากือระ เจ๊ะแซ อายุ 25 ปี สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4609 กรมทหารพรานที่ 46 ซึ่งทั้งคู่รับสารภาพว่าเป็นผู้ร่วมก่อเหตุกับเพื่อน ผู้ต้องหาอีก 1 คนที่ยังหลบหนีอยู่

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลไทยขณะนั้นกับขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มติดอาวุธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังดำเนินไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เนื่องจากที่กรุงเทพฯ รัฐบาลไทยกำลังถูกสั่นคลอนด้วยกลุ่ม กปปส. และตามด้วยการรัฐประหารโดย คสช. ในอีกสามเดือนถัดมาคือ 22 พ.ค. 2557

การเมืองไทยหยุดชะงัก สันติภาพสะดุด แต่ขบวนการนักศึกษามุสลิมมลายูในนามกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชน ปาตานี หรือ เปอร์มัส ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความสิ้นหวัง

ทุกวันที่ 3 ก.พ. ของทุกปีหลังจากนั้นมา กลุ่มเปอร์มัสประกาศให้เป็นวันมนุษยธรรมปาตานี เรียกร้องให้คู่ขัดแย้งคำนึงถึงผู้บริสุทธิ์ และเคารพหลักสิทธิมนุษยชนตามกติกาสากลระหว่างประเทศ

และนี่เป็นสาระสำคัญของแถลงการณ์กลุ่มเปอร์มัสในปี 2564 ที่่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีอำนาจ ครองเสียงข้างมากในสภา แต่กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ยังคงลุ่มๆ ดอนๆ ต่อไป

เปอร์มัสเรียกร้องต่อคู่ขัดแย้งเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพปาตานี ว่า 1.ขอให้คู่ขัดแย้งตระหนักถึงพลเรือนและเคารพกฎหมายมนุษยธรรมสากล IHL ( International Humanitarian Law ) 2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นกฎหมายที่เอื้อต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงทางการเมืองได้อย่างเสรี และ 3.การพูดคุยสันติภาพที่ดำเนินการอยู่นั้นต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและออกแบบกระบวนการเพื่อไปสู่การกำหนดชะตากรรมตนเอง ( Self To Determination )

ขณะที่ ซูกริฟฟี ลาเต๊ะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชน ปาตานี หรือ เปอร์มัส ให้สัมภาษณ์ 'วอยซ์' ว่าเหตุการณ์นั้นสะท้อนชัดว่า พื้นที่นี้ไม่ปลอดภัยสำหรับประชาชน การที่เปอร์มัสสถาปนาวันนี้เป็นวันมนุษยธรรมปาตานี เพราะต้องการเรียกร้องบนฐานความเป็นคนของทุกฝ่าย อยากให้มองเห็นคุณค่าของชีวิต และให้รัฐไทยตระหนักว่าการแก้ปัญหาแบบเดิม ด้วยการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ การคุกคามสิทธิเสรีภาพ ลิดรอนพื้นที่ทางการเมืองนั้น ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยเรียกร้องกันตอนนี้ว่า ทุกคนต้องมีเสรีภาพ ประเทศนี้ต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

"ผมคิดว่าไม่มีใครที่เลือกจับอาวุธไปสู้กับคนได้ ถ้าหากเขาไม่ได้สนับสนุน หรือมีความฝันที่เชื่อว่าเป็นความฝันอันศักดิ์สิทธิ แต่การใช้อาวุธเหล่านั้น การปฏิบัติการของทั้งสองฝ่าย ประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธเขากลับได้รับผลกระทบ ตัวอย่างเหตุการณ์วันที่ 3 ก.พ. 2557 นั้นชัดเจนที่สุด"

ประธานเปอร์มัส กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาของภาครัฐต้องทบทวนว่า การใช้ไม้แข็งของฝ่ายความมั่นคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะปัญหายังคงวนกลับมาอยู่เหมือนเเดิม นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เปอร์มัสรวมเคลื่อนไหวกับกลุ่มราษฎรในการชุมนุมปีที่ผ่านมา (2563) เพื่อยกระดับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่

ส่วนเป้าหมายการเคลื่อนไหวของเปอร์มัสในปี 2564 ประธานเปอร์มัส กล่าวว่า จะพยายามเร่งผลักดันให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพทางการเมือง เพื่อชี้ให้สังคมเห็นว่าการใ้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคงมีแต่ผลักคนลงใต้ดิน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก


ภาพจากเพจ Student Voice