ไม่พบผลการค้นหา
ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ให้กำลังใจคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่าคิดฆ่าตัวตาย ให้นึกถึงคนที่รัก พร้อมจี้รัฐบาลให้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท เร่งให้ความช่วยเหลือตรงจุดก่อนสิ้นเดือนเมษายน แนะหยุดอุ้มเจ้าสัว หันมาพัฒนาประเทศพลิกวิกฤตหลังโควิด

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข่าวคนฆ่าตัวตายซึ่งปรากฎมากขึ้นทุกวันว่า ตอนนี้ต้องยอมรับว่าทุกคนยากลำบาก อยากจะให้กำลังใจกับคนที่ประสบปัญหาจากพิษโควิดในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ต้องตกงานหรือมีรายได้ลดลงจากมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะดูแลเรื่องความปลอดภัยจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และไม่อยากให้คิดสั้น เวลามีปัญหาเข้ามาอยากให้ตั้งสติ

"เข้าใจว่าทุกคนเหนื่อย ทุกคนหนัก เหมือนกับว่ามันมองไม่เห็นอนาคต แต่ให้หายใจลึกๆ ตั้งสติว่าเรายังมีคนที่เรารักและเค้ารักเรา รอเราอยู่ ถ้าเราไปเสียแล้ว เขาจะอยู่ยังไง อย่าคิดอะไรเร็วจนเกินไป ชีวิตเราไม่เคยสิ้นหวัง เราต้องมีหวังเสมอแล้วก็เดินหน้าเพื่อคนที่เรารักและคนที่เขารักเรา"

ทั้งนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำว่า ภาครัฐต้องช่วยอย่างเต็มที่รัฐบาล การที่ได้ตัดสินใจจะกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 6 แสนล้านบาทเพื่อเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐที่สั่งปิดงาน ปิดกิจการไม่ให้ประกอบการในช่วงห้วงเวลาที่ผ่านมา มันก็ส่งผลให้คนต้องตกงานส่งผลให้รายได้ลดในหลายๆ อาชีพ ดังนั้นการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดต้องเยียวยาให้ทั่วถึงแล้วก็รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่ตกงานที่อยู่นอกประกันสังคม, กลุ่มคนที่ประกอบอาชีพอิสระเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายรายเล็กๆ ที่ยอดขายลดลง, แท็กซี่, วินมอเตอร์ไซค์ หรือร้านค้าต่างๆ ที่ถูกสั่งให้ปิด รวมทั้งเจ้าของกิจการและลูกจ้าง

ถ้าใช้วงเงิน 6 แสนล้านบาท ให้เดือนละ 5,000 บาท 3 เดือนจะช่วยได้ตั้ง 40 ล้านคน แต่ตนไม่เข้าใจว่าทำไมระบบและการตรวจสอบสิทธิ์ถึงได้ยุ่งยากมากนัก การช่วยเหลือกลายเป็นว่าไม่ทั่วถึงและไม่รวดเร็วเท่าทันกับปัญหาของคนส่วนใหญ่ ทุกวันนี้คนชั้นกลางลงไป มีหนี้สินครัวเรือนสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นแสดงว่าคนเหล่านี้หาเช้ากินค่ำหรือหาเดือนชนเดือนไม่มีเงินเก็บ เมื่อเขาต้องหยุดงานหลายวันหรือมากกว่าเดือน มื้อต่อไปจะหาข้าวตรงไหนไปให้ลูกกิน จะไปซื้อข้าวจะเอาเงินไหนไปซื้อข้าว ตนจึงคิดว่าการเยียวยาควรจะจัดการให้เสร็จก่อนสิ้นเดือนเมษายนนี้ คนที่ไม่ไหวจริงๆ แล้วการฆ่าตัวตายมันเป็นเรื่องใหญ่และการอดตายก็เป็นเรื่องใหญ่มาก

ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ยังกล่าวว่า คนไม่ได้อยากจะออกมาแบมือรับเงิน เท่าที่ตนได้ลงพื้นที่คนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าเขาได้กลับไปมีงานทำ ไม่ได้อยากได้เงิน 5,000 บาท 3 เดือน แต่เขาอยากกลับไปทำงานแต่เมื่อยังไม่ให้เขาทำงานการค้าขายมันกระเทือนลดลงไปหมด

นอกจากนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ ยังเสนอว่า เงินกู้อีก 3 ส่วนที่เหลือ คือ 1. เงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ ตนเสนอว่าควรจะจัดลงไปที่กองทุนหมู่บ้านเข้าตรงไปที่ประชาชน ไม่ต้องผ่านหน่วยงานไปเรื่อยๆ และกำหนดเป็นโครงการแก้ปัญหาฝนแล้ง เช่น การจ้างงานในชุมชนขุดบ่อกักเก็บน้ำหัวไร่ปลายนา ไม่ใช่ไปซื้อของแจกซึ่งมันไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจที่รากหญ้าได้ กลายเป็นเอาเงินไปซื้อบริษัทใหญ่แล้วก็ไปแจกให้ประชาชน GDP ของคนจนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น

2. เงิน 5 แสนล้านที่จะกระตุ้น SME ซึ่งยังไม่มีแผนงานชัดเจนมากนัก แล้วต้องกู้ผ่านระบบธนาคาร ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าใจก่อนว่า SME ในประเทศไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็น SME ขนาดที่เล็กมากไม่ได้เป็นนิติบุคคล และไม่มีสายป่านที่ยาวมากนักหลายเจ้าอยู่ได้ไม่เกิน 5 เดือนหรือน้อยกว่านั้น กู้เงินในระบบผ่านธนาคารไม่ได้ รัฐต้องทำยังไงให้เขาไม่ล้มลงไป เพราะ SME เป็นเฟืองเล็กๆ ที่หมุนเศรษฐกิจอยู่ในประเทศมีจำนวนมาก และถ้าตัวหนึ่งล้มนั่นหมายถึงอาจจะมีคนงาน 5 -10 คน หรือ 10 ครอบครัว มันก็จะล้มเป็นโดมิโนที่เป็น Supply chain เดียวกัน และเศรษฐกิจจะยิ่งฟื้นยากขึ้นไปอีก

3. เงินก้อนที่ 4 อีก 4 แสนล้านบาทที่รัฐบาลจะนำมาอุ้มหุ้นกู้ อยากให้รัฐบาลคิดทบทวนให้รอบคอบว่าการที่ออกมาแล้วอุ้มหุ้นกู้มันจะได้ประโยชน์เฉพาะรายใหญ่ไม่กี่ราย ก็ไม่พ้นเจ้าสัว 20 รายที่รัฐบาลมีหนังสือไปถึง แต่ตนอยากให้รัฐบาลนำเงินส่วนนี้มาสร้างโครงสร้างพื้นฐานเตรียมสำหรับโลกที่จะเปลี่ยนไปหลังจบการระบาดของโควิด-19 เพื่อรองรับ new normal เกิดขึ้น มันเป็นทั้งวิกฤติและเป็นทั้งโอกาส โดยตนเสนอให้นำมาพัฒนาโครงสร้างทางด้านสาธารณสุขเพื่อให้ช่วยให้การันตีได้มั่นใจว่าระบบสาธารณสุขของเราที่ดีอยู่แล้วถ้าเราลงทุนเพิ่มไป เชื้อโรคที่มันยังมีอยู่แล้วมันจะเกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นมาบ่อยๆ เราจะรองรับได้เข้มแข็งมากขึ้นอีก และผลประโยชน์ที่ตามมา คือ การท่องเที่ยว ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะมั่นใจว่าจะปลอดภัยจากโรคระบาด สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวกล้ามาเที่ยวในเมืองไทยเราก็จะได้ฟื้นท่องเที่ยวได้เร็วฟื้นท่องเที่ยวได้เร็ว

ส่วนด้านอาหาร ด้านเกษตร ที่ผู้บริโภคจะมั่นใจว่ามาจากประเทศไทย แสตมป์ประเทศไทยนั่นแปลว่าปลอดภัย เพราะหลังจากผ่านช่วงโควิดคนย่อมจะมองหาอาหารเพื่อสุขภาพ อีกทั้งประเทศไทยมีฐานของการผลิตการเกษตรอยู่แล้ว ถ้านำเงินส่วนนี้ไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบชลประทาน หรือสนับสนุนภาคการเกษตร เช่น ให้เครื่องไม้เครื่องมือ ให้เทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนหน้าดินให้เป็นดินที่ปลอดภัยการลดการใช้สารเคมีต่างๆ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารปลอดภัยป้อนคนทั้งโลก เกษตรกรที่เราบอกว่าเป็นภาระจะกลายเป็นกำลังหลักในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและให้กับประเทศ

ดังนั้น โดยสรุปคือ 1.9 ล้านล้าน มันคือเงินที่เป็นเงินกู้ของประชาชนที่จะต้องรับภาระหนี้ก้อนมโหฬารเป็นการกู้ครั้งที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เงินกู้ทุกบาททุกสตางค์คือเงินกู้ของประชาชนคนทั้งประเทศ เขาจึงต้องมีส่วนที่จะได้ผลดีผลประโยชน์จากเงินกู้ 1.9 ล้านล้านไม่ทางตรงคือการเยียวยา ก็ทางอ้อมคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ