ไม่พบผลการค้นหา
"สุภิญญา" แนะ ศูนย์ Fake News การเมือง ควรมีตัวแทนทุกพรรคการเมืองร่วมด้วย ไม่ควรเป็น ปอท. 2 ที่มีแต่ตำรวจทหารเต็มไปหมด ส่วน"ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ" ยืนยัน นิยาม Fake News ของรัฐกับประชาชน ไม่เคยตรงกัน ด้านผู้แทน DE ชี้ แม้เป็นข่าวจริง แต่ผิดที่ผิดเวลาสร้างความวุ่นวายในสังคมก็เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ที่ต้องตรวจสอบ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา "จุดกึ่งกลางการจัดการปัญหา Fake News" นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ED ระบุว่า Fake News ในมุมมองของภาครัฐนั้น แม้ว่าจะเป็นข่าวที่เคยเกิดขึ้นจริง แต่คลาดเคลื่อนเรื่องเวลาหรือการเอาข่าวเก่ามาแชร์โดยอาจทำให้สังคมเข้าใจผิด โดยเฉพาะที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือทำให้ประชาชนสับสนและเกิดความวุ่นวายต่อสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นข่าวภัยพิบัติธรรมชาติ, สุขภาพ, เศรษฐกิจสังคม ถือเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ 

นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ย้ำว่า ศูนย์ต่อต้าน Fake News จะตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข่องในเรื่องนั้นๆ และชี้แจงโดยนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณะ ด้วยการเอาข่าวจริงกับข่าวเท็จมาเปรียบเทียบกันเพื่อประชาชนใช้วิจารณญาณ ซึ่งใช้แพลตฟอร์มสากลตรวจสอบใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงก็เสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด ส่วนที่เป็นความผิดจะรวบรวมข้อมูลเป็นหลักฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาผิดตามกฎหมาย โดยยืนยันด้วยว่า ปัจจุบันประชาชนเดือดร้อนจาก Social Media มากกว่าภัยพิบัติหรืออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคม

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมายสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า มุมมองต่อ Fake News ของภาครัฐกับเอกชนไม่เคยตรงกัน ซึ่งภาคครัฐครอบคลุมถึงข่าวที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง ขณะที่ประชาชนมองเป็นเรื่องเสรีภาพการแสดงออกและความคิดเห็นหรือทัศนคติทางการเมือง

ดังนั้น ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า ไม่ใช่แค่ข่าวจริงหรือข่าวไม่จริง แต่เป็นเนื้อหาข่าวสารที่ผิดเวลาหรือผิดโอกาส ที่แม้เป็นข่าวจริง แต่ถ้าเกิดผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง ก็ถือว่าเป็น Fake News ในมุมมองของรัฐตามกฎหมาย และเมื่อจุดกึ่งกลางของ Fake News โดยนิยามระหว่างรัฐกับเอกชนต่างกัน ดังนั้นการแก้ปัญหานี้จึงต้องมองให้ต่างกันด้วย

นายไพบูลย์ ยืนยันว่า อำนาจรัฐทุกประเทศทั่วโลกกำลังหลงทาง ที่จะควบคุมเรื่อง Fake News โดยการออกกฎหมายที่เข้มงวดและมีบทลงโทษค่อนข้างสูง เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งในอดีตอาจสั่งปิดสำนักพิมพ์ แต่ปัจจุบันยุค online ที่ยิ่งปิดยิ่งถูกขยายเพิ่มอย่างรวดเร็ว ส่วนการบล็อกเว็บไซต์หรือบล็อกคำหยาบนั้น เด็กรุ่นใหม่ก็มีการคิดคำใหม่ๆออกมาตลอดเวลา จึงเสนอให้ผู้ใช้งานเป็นคนดูแลกันเองภายใต้กฎกติกาองค์กรหรือกลุ่มต่างๆใน Social Media ซึ่งมีอยู่แล้ว เเละภาครัฐจะบังคับทุกกลุ่มให้มีกติกาเดียวกันไม่ได้

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุว่า การใช้คำว่า Fake News จะไม่ตรงกับความหมายจริงเพราะคำนี้เกิดจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บอกว่าสื่อมวลชนที่วิจารณ์ตัวเองเป็น Fake News ดังนั้นในเชิงวิชาการจะใช้คำว่า "การเข้าใจข้อมูลคาดเคลื่อน" กับ "การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร" ซึ่งพิสูจน์ยาก เพราะหลายอย่างเกี่ยวข้องกับความคิดความเชื่อ แต่หากเป็นเรื่องวิทยาศาตร์ที่พิสูจน์ชัดได้ ก็ยืนยันได้ง่าย จึงต้องแยกระดับการควบคุมตรวจสอบ ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาแบบรวมศูนย์ โดยรัฐเป็นเจ้าภาพได้ แล้วต้องอาศัยการยอมรับและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

นางสาวสุภิญญา เสนอว่า ต้องใช้วิธีต่างระดับในการจัดการ ถ้าเป็นเรื่องเข้าใจเหตุการณ์หรือข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ก็ต้องส่งเสริมความรู้เท่าทัน ทั้งสื่อหลักอย่างสื่อโทรทัศน์ ที่ต้องให้ทำหน้าที่มากขึ้น เพื่อเรียกร้องผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้ชัวร์ก่อนแชร์หรือไตร่ตรองในการเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งระดับนี้ต้องคำนึงว่าเป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็นหรือทัศนคติทางการเมืองด้วย

แต่หากถึงขั้นบิดเบือนหรือเผยแพร่ข้อมูลเท็จ อย่างเรื่องสุขภาพเพื่อมุ่งขายสินค้า ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอยู่แล้ว หรือการชาวบ้านที่ถูกหลอกในการลงทุน ซึ่งเป็นการล่อลวง หรือการขายทัวร์ปลอม ที่ไม่ใช่ Fake News แต่เป็นลักษณะอาชญากรรมก็เป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

นางสาวสุภิญญา ยังได้ยกตัวอย่างการนำเสนอในวงเสวนาแห่งหนึ่งจองชาวเยอรมันว่า "ต้องสร้างนิสัยที่จะไม่เชื่อข้อมูลง่ายแต่ตรวจสอบข้อมูลเหมือนก่อน ให้เหมือนการสร้างนิสัยต้องล้างมือก่อนทานข้าว " และหาก ED ตรองการทำศูนย์ตรวจสอบ Fake News ในเรื่องการเมืองจริงๆ ก็ควรจะตั้งกองบรรณาธิการที่มีนักการเมืองจากทุกพรรคร่วมด้วย และต้องมีเวลาทำข่าวเจาะหรือสืบสวนสอบสวน ภาพลักษณ์ของศูนย์ตรวจสอบต้องร่วมสมัยเหมือนในต่างประเทศอย่างไต้หวัน ไม่ใช่แบบของไทยที่มีตำรวจทหารเต็มไปหมด เหมือนเป็นกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. แห่งที่ 2 ซึ่งอาจซ้ำซ้อนการทำงานกันด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :