ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์โควิด-19 ระลอก 2 ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากเหตุสำคัญคือ ‘ความบกพร่อง-ละเลย’ ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง เพราะการแพร่ระบาดมาจาก ‘แรงงานข้ามชาติ’ ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย แล้วนำมาสู่การแพร่ระบาดในบ่อนการพนัน

จากนั้นนำมาสู่การดำเนินการทางวินัยกับนายตำรวจและตำรวจในท้องที่หลายราย ซึ่งสังคมต่างติดตามว่าจะสาวไปถึง ‘ขบวนการต้นน้ำ’ หรือไม่ ไม่เช่นนั้นกระบวนการทางกฎหมายก็จะเป็นเพียง ‘ปาหี่’ เท่านั้น

ทว่าต้นตอการแพร่ระบาดครั้งแรกยังเคลียร์ไม่จบ กลายเป็น ‘วิกฤตศรัทธา’ ต่อตัว ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ อย่างต่อเนื่อง ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 จุดระบาดสำคัญมาจาก ‘สนามมวยลุมพินี’ หลังไม่ยุติการจัดแข่งขันมวย

แม้ว่าคณะกรรมการกีฬามวย กกท. จะออกหนังสือขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดแข่งขัน ที่ออกเมื่อ 4 มี.ค. 2563 ตามมาตรการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ออกมาเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2563

หนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิด คือ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการ ทบ. ในฐานะ ‘นายสนามมวย’ ขณะนั้นด้วย จากนั้น พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขณะเป็น ผบ.ทบ. ได้แต่งตั้ง พล.ท.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพล ทบ. ขณะนั้น พร้อมตั้ง ‘คณะกรรมการสอบสวน’ ขึ้นมาสอบสวนกรณีดังกล่าว เพื่อพิจารณาความผิดในการลงโทษ

สนามมวย ลุมพินี โควิด โคโรนา -2.jpg

จากนั้น พล.อ.อภิรัชต์ ได้โยก พล.ต.ราชิต มาช่วยราชการที่ บก.ทบ. เพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบ ต่อมามีรายงานว่า พล.อ.อภิรัชต์ ได้คืนตำแหน่งให้ พล.ต.ราชิต กลับมาเป็น เจ้ากรมสวัสดิการ ทบ. อีกครั้ง ช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2563 หลังการสอบสวนแล้วเสร็จ 

ทั้งนี้ พล.ต.ราชิต เป็นเพื่อน ตท.20-จปร.31 กับ พล.อ.อภิรัชต์ และจะเกษียณฯ ก.ย. 2564 โดยในโผโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลทั้ง 2 ครั้ง ในปี 2564 พล.ต.ราชิต ก็ไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้น 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อ ต.ค. 2563 พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ในฐานะ ประธานอำนวยการสนามมวยลุมพินี ได้แต่งตั้ง พล.ท.สุชาติ แดงประไพ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ บก.กองทัพไทย ให้เป็น ‘นายสนามมวยลุมพินี’ โดยมีวาระดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 1 ปี เพราะเกษียณฯ ก.ย. 2564 โดยในวงการมวยเรียกว่า ‘พี่แดง’

ทั้งนี้การแต่งตั้งครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการ ‘แหวกม่านประเพณี’ เพราะตามโครงสร้างแล้ว ‘นายสนามมวย’ จะต้องเป็น ‘เจ้ากรมสวัสดิการ ทบ.’ โดยตำแหน่ง

สำหรับ พล.ท.สุชาติ เป็น ตท.23-จปร.34 เป็นรุ่นน้อง พล.อ.ณรงค์พันธ์ ตท.22 จปร.33 โดยทั้งคู่พบกันครั้งแรกที่ ร.2 พัน.2 รอ. และเติบโตมาด้วยกัน โดยขณะนั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็น. ‘ผู้กอง’ ส่วน พล.ท.สุชาติ เป็น ‘ผู้หมวด’ โดยหน่วย ร.2 พัน.2 รอ. ก็คือ ‘บูรพาพยัคฆ์’ ดังนั้นการก่อน พล.อ.ณรงค์พันธ์ จะมาเติบโตที่ ร.31 รอ. หรือหน่วยหมวกแดง RDF ของ พล.1 รอ. หรือที่เรียกว่า ‘สายวงศ์เทวัญ’

unsplash-มวยไทย ชกมวย นักกีฬา สนามมวย เวทีมวย.jpg

สำหรับ พล.ท.สุชาติ เติบโตมาจาก ร.2 พัน.2 รอ. จากนั้นเข้ากรุงเทพฯ มาเติบโตที่ บก.กองทัพภาคที่ 1 และเป็นช่วงเวลาที่ได้ทำงานกับ พล.อ.ดุลกฤต รักษ์เผ่า แม่ทัพน้อยที่ 1 ในขณะนั้น ต่อมา พล.อ.ดุลกฤต ขึ้นตำแหน่งเป็น

ผบ.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) โดย พล.ท.สุชาติ ก็ได้ข้ามจาก ทภ.1 ไปอยู่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ด้วย ก่อนจะถูกโยกเข้ากรุ บก.กองทัพไทย นั่งเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ บก.กองทัพไทย แทน แม้จะมีชื่อเป็นแคนดิเดต ผบ.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ทว่าตำแหน่งจะต้องเป็น ‘คนสายตรง’ ของ ผบ.ทหารสูงสุด เพราะเป็นหน่วยทหารที่มีหน่วยทั่วประเทศ มีกำลังพลและงบจำนวนมาก

สุชาติ แดงประไพ นายสนามมวยเวทีลุมพิ.jpg
  • พล.ท.สุชาติ แดงประไพ นายสนามมวยลุมพินี

ล่าสุด พล.ท.สุชาติ ในฐานะ ‘นายสนามมวยลุมพินี’ ได้ประกาศยกเลิกการแข่งขันมวย เพราะเกรงจะซ้ำรอย จึงทำให้ ‘สนามมวยลุมพินี’ ถูกกลับมาโฟกัสอักครั้ง ทว่าความสำคัญอยู่ที่ การ ‘ข้ามห้วย’ นำคนจาก บก.กองทัพไทย มา ‘เสียบยอด’ นั่งเป็น ‘นายสนามมวย’ ต้องจับตาแนวทางการบริหารสนามมวยลุมพินี ที่ตกเป็นเป้าจากฝั่งตรงข้ามกองทัพ โดยเฉพาะแรงกดดันในการ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ เพราะ ‘สนามมวยลุมพินี’ เปรียบเป็น ‘หม้อข้าว ทบ.’ เพราะเป็น ‘เงินนอกงบประมาณ’ ที่รายได้เป็นสวัสดิการ ทบ. นั่นเอง

ดังนั้นการที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ส่ง พล.ท.สุชาติ น้องรักสายตรง ตั้งแต่ครั้งเป็น ‘นายทหารหนุ่ม’ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะเท่ากับเป็นการ ‘ตัดวงจร’ ระหว่าง ‘สนามมวยลุมพินี-กรมสวัสดิการ ทบ.’ เพื่อปูทางสู่การ ‘จัดระเบียบ’ ตามแนวทางปฏิรูป ทบ. ที่ยังไม่แล้วเสร็จ ตั้งแต่ยุค พล.อ.อภิรัชต์ ที่เคยให้สัญญา 3 เดือนจบ

‘เวลา’ จะเป็น ‘บทพิสูจน์’ เอง !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog