นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ ทั้งไทยและต่างชาติกว่า 30 คน รวมตัวกันบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตบรูไนดารุสซาลาม ประจำประเทศไทย เพื่ออ่านแถลงการณ์ร่วมจากองค์กรภาคประชาสังคมในอาเซียน 132 องค์กร เรียกร้องให้รัฐบาลบรูไนพิจารณายกเลิกการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ภาคประชาสังคมอาเซียนรู้สึกกังวลใจต่อการละเมิดสิทธิและชีวิตของชาวบรูไน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนชายขอบของประเทศบรูไน ซึ่งรวมถึงผู้หญิง เด็กและเยาวชน กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) ผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ คนกลุ่มน้อยทางศาสนา
กฎหมายชารีอะห์ขัดแย้งกับหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากล ที่ประเทศบรูไนได้ลงนามในสนธิสัญญา รวมถึงการให้สัตยาบันในความตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ กฎบัตรอาเซียน รวมถึงอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การลงโทษทางร่างกายในทุกรูปแบบ ทั้งการปาหิน การตัดอวัยวะ หรือการเฆี่ยนตี ถือเป็นการทรมานหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นข้อห้ามในทุกกรณี
กลุ่มนักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศในอาเซียนระบุว่า บรูไนเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ประกาศใช้กฎหมายชารีอะห์ และเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายประหารชีวิตกลุ่มคนรักเพศเดียวกันด้วยการปาหินต่อหน้าสาธารณชน
ทั้งนี้ นายประเสริฐ แวดือราแม เจ้าหน้าที่กองรับรอง สอท. บรูไน เป็นตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตบรูไน รับมอบคำแถลงการณ์ พร้อมระบุจะดำเนินการส่งเรื่องให้เอกอัครราชทูตบรูไน ประจำประเทศไทย รับทราบถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อไป
หลังจากนั้น เวลา 13.00 น. นักกิจกรรมกลุ่มดังกล่าว ได้เดินทางไปพบ อมรา พงศาพิชญ์ ซึ่งปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights - AICHR) เพื่อยื่นแถลงการณ์ข้อกังกลส่งต่อไปยังคณะกรรมการระดับอาเซียน และมีแผนการการเคลื่อนไหวเรียกร้องผ่านกลไกอาเซียนด้านต่าง ๆ และรัฐบาลไทย ในฐานะที่นั่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้