ไม่พบผลการค้นหา
พรรคเพื่อไทย - อนาคตใหม่ เห็นพ้องเตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ด้าน 'รังสิมันต์' ชี้ รธน.ฉบับ 3 ขัง 'ขังคนเห็นต่าง - ขังผู้ร่าง - ขังประเทศไทย'

ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พรรคโดมปฏิวัติ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเสวนา "3 ปีประชามติ ได้อะไรเสียอะไร เอาไงต่อ" โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน น.ส.กรชนก ธนะคูณ รองเลขาสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และผู้ต้องหาคดี พ.ร.บ.ประชามติ นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและเเผนงานพรรคเพื่อไทย และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และผู้ต้องหาคดี พ.ร.บ.ประชามติ ดำเนินการเสวนาโดย น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา 

น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิธินันท์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึง ปัญหาของ พ.ร.บ.ประชามติ และคดีความที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2559 ซึ่งมีการนำกฎหมายมาตราต่างๆ มาดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการ แจกจ่ายเอกสาร ใบปลิว และสติ๊กเกอร์โหวตโนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยในช่วงการรณรงค์ครั้งนั้นมีประชาชนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีอย่างน้อย 212 คน และผ่านมา 3 ปียังมีผู้ที่คดียังไม่สิ้นสุดถึง 53 คน 

“การดำเนินการข่มขู่คุกคามกับบุคคลที่มารณรงค์ประชามติ มีทหาร ตำรวจบุกรื้อเวทีพูดเพื่อเสรีภาพทหารตำรวจบุกจับกุมคนที่พูดถึงร่างรัฐธรรมนูญต่างๆ แม้แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ยังสับสนเพราะความคลุมเครือของตัวเนื้อหาสาระในพระราชบัญญัติประชามติ”

น.ส.ศศินันท์ กล่าวว่า จำนวนการจับกุม และการดำเนินคดีความ ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้าการออกเสียงประชามตินั้น สะท้อนให้เห็นถึง ความไม่เสรีและเป็นธรรมของการทำประชามติ มากไปกว่านั้นยังทำให้การออกเสียงประชามติกลายเป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญเท่านั้น ประชามติเป็นแค่การสร้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้น เพราะประชาชนไม่สามารถรณรงค์ให้ความรู้ และมีการปกปิดข้อเท็จจริงบางอย่าง อย่างเช่นที่มา ส.ว. ที่มาในรูปแบบคำถามพ่วง โดยกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในช่วงการทำประชามติ คือ พ.ร.บ.ประชามติ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งเป็นเครื่องมือลิดรอนเสรีภาพ ทำให้บรรยากาศของการรณรงค์ ทุกคนถูกปิดปากบ และรับทราบข้อมูลได้จากฝ่ารัฐเพียงอย่างเดียว 

น.ส.กรชนก ธนะคูณ เปิดเผยว่า ในช่วงที่มีการเปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญนั้น คนงานที่ตนรู้จักหลายๆ คนก็ไม่ทราบเรื่อง และน้อยคนที่จะเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ 2560 คืออะไร ทางตนเองเมื่อมีกลุ่มนักศึกษาติดต่อมาว่าจะเข้ามาแจกใบปลิวรณรงค์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติ ก็ได้ไปร่วมด้วยแต่สุดท้ายก็ถูกจับกุมไปพร้อมกับกลุ่มนักศึกษา และถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

“มันเป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาอยู่แล้ว พอน้องๆ จะเข้ามาเราก็ยินดี แต่พอแจกเอกสารไปได้สักพักก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบ้าง ทหารบ้าง มาคุมตัวน้องโรมไป แล้วก็พาพวกเราไปด้วย ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเราผิดอะไร ถูกจับไปอยู่ในคุกซึ่งมันสกปรกมาก นอนไม่ได้เลย”

โภคิน โรม โบว์ รังสิมันต์ เสวนาประชามติ 04530.jpg

'โภคิน' ชี้นิรโทษฯ คณะรัฐประหารไม่มีใน รธน.

นายโภคิน กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยใช้กลไกของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร.ซึ่งได้เพิ่มเติมหลักการใหม่ๆ เข้ามา มีองค์กรอิสระทำหน้าที่กลไกการตรวจสอบ แต่ที่คิดว่าเป็นความผิดพลาดคือศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเข้าไปทำหน้าที่ไม่ขาดความรู้ความเชียวชาญ โดยเฉพาะในมิติทางการเมือง ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 มีเจตนามุ่งเล่นงานพรรคการเมือง มุ่งตอบโจทย์เพียงคนบางคนบางกลุ่ม โดยไม่มองประเทศชาติ ประชาชนเป็นหลัก รูปแบบจึงเป็นการทำงานโดยระบบอำนาจนิยม 

นายโภคิน กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นใหม่ จะต้องมีหลักการคือ อํานาจอธิปไตยจะต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และเห็นว่าการนิรโทษกรรม ให้กับคณะรัฐประหารจะต้องไม่มีอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นเรื่องขัดหลักนิติรัฐ นิติธรรมอย่างร้ายแรง ส่วนหลักการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะใช้กลไกของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ขับเคลื่อน ส่วนจะมีการแก้ไขในสาระสำคัญอย่างไรบ้าง อยู่ที่ความต้องการของประชาชน แต่จะต้องอยู่ภายใต้หลักการที่"ร่างโดยประชาชน พิจารณาโดยประชาชน เห็นชอบโดยประชาชน" ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกัน มองปัญหาร่วมกัน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเพื่อไปร่วมกัน หากดำเนินการในลักษณะดังกล่าวได้ทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้

รังสิมันต์ โรม โภคิน over Template.jpg

'โรม' จวก รธน.ฉบับ 3 ขัง ลุยเปิดทางตั้ง ส.ส.ร.

ขณะที่ นายรังสิมันต์ ระบุว่า ตนได้ตั้งฉายาให้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็น ‘รัฐธรรมนูญฉบับ 3 ขัง’ ด้วยเหตุว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ผู้เห็นต่างไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ในช่วงที่เปิดให้มีการรณรงค์ก่อนการลงประชามติ ขังที่ 1 คือ การขังผู้เห็นต่าง ส่วนขังที่สองคือ การขังผู้ร่าง โดยจะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกสมัย แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องเผชิญหน้ากับวิบากกรรมทางรัฐธรรมนูญที่ตนเองผู้ร่างขึ้น ส่วนขังที่ 3 คือ ขังประเทศไทยไม่ให้สามารถเดินไหนได้ 

นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า พรรคอนาคตใหม่มองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้นต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และแก้ไขเรื่องที่มา และอำนาจ ของ ส.ว. รวมทั้งการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ส่วนในระยะยาวจะผลักดดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยฉันทามติจากประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง